สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้อยติ่ง วัชพืช นานาประโยชน์

ต้อยติ่ง หรือ อังกาบฝรั่ง เป็นพืชที่มีที่มาจากแถบละตินอเมริกา เป็นพืชตระกูลเดียวกับเหงือกปลาหมอ มีพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับต้อยติ่งมากกว่า 240  ตระกูล โดยในประเทศไทยเรานี้สามารถพบเห็นต้อยติ่งได้ทั่วไป ตามน้ำ ริมนา สังเกตได้จากดอกที่มีเอกลักษณ์เป็นสีม่วงพาสเทล สีสวยสดใส ชอบเบ่งบานในฤดูฝน หากปลูกไว้เต็มท้องทุ่งจะได้ดอกที่สวยงามสะพรั่งดาษตา ต้อยติ่งที่เรามักจะพบเห็นนั้น มีด้วยกันหลากหลายชนิดอีก ไม่ว่าจะเป็นอังกาบฝรั่งหรือจะเป็นต้อยติ่งเถาและต้อยติ่งเครือ โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีลักษณะดอกที่มีสีสันเป็นสีม่วงอ่อนทั้งสิ้น แต่จะมีความแตกต่างกันตรงลักษณะของใบและลำต้น โดยบางชนิดจะให้ใบลักษณะกลมมีสีเขียวเข้ม และในบางชนิดจะให้ใบลักษณะเรียวยาวครับ

ต้อยติ่งเป็นพืชล้มลุก ขนาดเล็กสูงไม่เกิน 1เมตร มีกิ่งรอบลำต้น บริเวณลำต้นมีขนอ่อนปกคลุมประปราย ใบกลมรูปทรงไข่ปลายสอบ ขอบใบเรียบแต่มีลอนบ้าง แตกดอกเป็นกระจุก ตามง่ามใบ ดอกสีม่วงอ่อนทรงกรวย ให้ผลเป็นฝักนิยมเรียกกันว่าเม็ดเป๊าะแป๊ะ เพราะเมื่อนำฝักแก่จัดไปแช่น้ำจะแตกออกเป็นสองซีก ด้านในฝักมีเมล็ดแบน ต้นต้อยติ่งนั้นจะแพร่พันธุ์ได้ง่ายจนกลายเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง

แม้ว่าจะเป็นวัชพืช แต่ต้อยติ่งนั้นยังเป็นพืชที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะส่วนต่างๆ ของต้นต้อยติ่งนั้นสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพร เช่น ส่วนของราก นำมาใช้ดับพิษไข้ แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ บำรุงไต แก้ไอ ขับของเสียในร่างกาย ส่วนใบใช้รับประทานเพื่อขับพยาธิและนำมาประคบภายนอกบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนเมล็ดสามารถนำมาดูดหนองได้

ในการเกษตรนั้น เรานิยมปลูกไว้เป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำต่างๆ ทั้งยังใช้ปลูกเป็นพืชเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยดิน ก่อนจะปลูกพืชผลชนิดอื่นอีกด้วย แต่เราควรที่จะไถกลบเมื่อต้นต้อยติ่งยังอ่อนและไม่แก่จนเกิดฝัก เพราะอาจทำให้ต้อยติ่งกลายเป็นวัชพืชได้ เนื่องจากเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และเติบโตได้เร็วโดยการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดอาจทำให้กำจัดยากในภายหลัง และอาจแย่งอาหาร รวมทั้งแสงแดดจากพืชผลของเราด้วย

การปลูกต้นต้อยติ่งนั้น นิยมปลูกโดยการหว่านเมล็ดในแปลงเพราะเป็นพืชที่ให้ฝักที่มีเมล็ดเยอะ และติดเมล็ดได้ดีทั้งยังเป็นวิธีเดียวที่สามารถขยายพันธุ์ต้อยติ่งได้ โดยจะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย และทนต่อสภาพอากาศรวมทั้งสิ่งแวดล้อมได้ดี อาจจะมีการไถพรวนดินตากไว้บ้างเล็กน้อย และผสมดินกับอินทรีย์วัตถุในอัตราส่วนที่เท่ากัน จากนั้นก็สามารถทำการหว่านเมล็ดลงแปลงได้เลยครับ หากใครชื่นชอบแล้วก็สามารถไปปลูกเพื่อเป็นพืชสวยงาม หรือ เป็นปุ๋ยให้ดินกันได้นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook