สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ถั่วพร้า นิยมใช้เป็นอาหารสัตว์

ถั่วพร้า เป็นพืชตระกูลถั่ว โดยในอดีตนั้นนิยมใช้เป็นอาหารสัตว์เป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะในประเทศบราซิล เป็นไม้พุ่มที่เลื้อยได้ มีความสูงประมาณ 1 เมตร แต่สามารถสูงได้มากกว่านั้นหากปลูกในดินที่อุดมสมบูรณ์ ได้รับสารอาหารและแสงแดดที่เพียงพอ ปัจจุบันเรานำต้นถั่วชนิดนี้ ที่อุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนมาใช้ปรับปรุงคุณภาพดินในแปลงเพาะปลูกระหว่างช่วงรอฤดูปลูกแต่ละรอบ และยังใช้เป็นพืชคลุมดินได้อีกด้วย โดยถั่วพร้านั้นมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์คือพันธุ์เมล็ดขาวและพันธุ์เมล็ดแดง โดยพันธุ์เมล็ดขาวจะมีขั้วเมล็ดน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวของเมล็ด แต่พันธุ์เมล็ดสีแดงจะมีขั้วเมล็ดยาวเกือบตลอดความยาวของเมล็ด ฝักมีความอวบและความยาวกว่าและฝักจะโค้งกว่าพันธุ์เมล็ดสีขาว มียอดออกสีแดงและเลื้อยพัน โดยสีของดอกจะเป็นสีชมพูหรือขาว ต่างจากพันธุ์เมล็ดขาวที่มีดอกสีม่วง โดยตันถั่วพร้าทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารได้เช่นกัน

ถั่วพร้าเป็นพืชที่ปรับตัวได้ดีสามารถปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยในทั่วทุกภาค สามารถเติบโตได้แม้ในดินเปรี้ยว ดินเค็มและดินเหนียว มีลำต้นแข็งแรงและระบบรากลึก สามารถขึ้นได้ดีในสภาพดินเหนียวและดินกรด การนำถั่วพร้ามาปลูกแล้วทำการไถกลบเพื่อใช้ประโยชน์เป็นพืชปุ๋ยสดในนาข้าวนั้น จะช่วยให้ดินมีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ดินโปร่งขึ้น ทำให้มีอากาศในดินและอุ้มน้ำได้ดีขึ้น และยังเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีในดิน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาปุ๋ยประเภทอื่นได้ และได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น

สำหรับการปลูกต้นถั่วพร้าเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว เราจะทำการเพาะปลูกก่อนถึงฤดูกาลปลูกข้าว โดยทั่วไปจะปลูกในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน โดยทำการไถนาเพื่อกำจัดวัชพืชก่อน 1 รอบ หว่านเมล็ดถั่ว 10-12 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่แล้วพรวนดินกลบเมล็ดเล็กน้อยเพื่อเพิ่มอัตราการงอกและเพื่อให้ได้ถั่วที่สมบูรณ์ขึ้น หากเป็นช่วงฝนขาดช่วงให้ทำการให้น้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน และเมื่อตันถั่วเริ่มออกดอกหรือประมาณ 60-64 วัน ให้ไถกลบดินทิ้งไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้วจึงปลูกข้าวได้ โดยจะได้น้ำหนักสดประมาณไร่ละ 3-4 ตัน นอกจากนี้ยังมีการนำถั่วพร้ามาปลูกคลุมดิน เพราะเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีขนาดของใบใหญ่ หนาแน่น และมีใบดก ทำให้บดบังสายฝนไม่ให้กระทบดินโดยตรง ไม่ได้ชะล้างหน้าดินออกไปและคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้มาก

 

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook