สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ถุงดำ ถุงเพาะชำคู่ฟาร์ม

หากพูดกันเรื่อง ถุงดำ คนทั่วไปจะนึกถึง ถุงดำใส่ขยะ ที่เราใช้กันอยู่ตามบ้านทั่วไป  แต่ถ้าบอกว่าเป็น ถุงดำที่ใช้ทางการเกษตร คนรักต้นไม้ก็จะเข้าใจทันทีว่ากำลังพูดถึง“ถุงเพาะชำ” สีดำ ที่ทำจากพลาสติกที่ดูเผินๆ ก็เหมือน ถุงขยะ แต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกันเลย เพราะถุงดำเพาะชำนั้นถูกออกแบบและผลิตมาเพื่อใช้เพาะชำพืชเท่านั้น

ลักษณะเฉพาะของถุงเพาะชำ อย่างแรกคือเรื่องของ “ขนาด” เพราะถูกออกแบบมาเพื่อใส่ดินและต้นกล้า ดังนั้นจึงมีขนาดถุงให้เลือกซื้อมากมาย ตั้งแต่ 2 นิ้ว x 6 นิ้ว ไปจนถึง 9 นิ้ว x 18นิ้ว ด้านข้างถุงจะมีรอยพับทั้ง 2 ด้าน เมื่อคลี่ถุงออก ถุงจะพองออกเป็นรูปกระบอกทรงสี่เหลี่ยม คล้ายกับกล่องยาสีฟัน ส่วนเนื้อถุงจะเจาะรูตามแนวยาว เพื่อใช้เป็นรูระบายน้ำเวลารดน้ำต้นไม้จะได้ไม่เอ่อขังครับ

ลักษณะถุงเพาะชำอันต่อมาคือ เนื้อของพลาสติกที่ใช้ผลิตถุง หากเพื่อนๆ เกษตรกรไปซื้อถุงเพาะชำอยากให้ลองสังเกตดูครับ บางครั้งถุงเพาะชำสีดำที่เราไปซื้อจะมีเนื้อถุง “สีดำด้าน” กับ เนื้อ “สีดำเงา” สาเหตุเป็นเพราะใช้พลาสติก คนละชนิดกันในการผลิต ถุงดำด้านนั้นจะทำจากพลาสติก “ความหนาแน่นสูง HDPE” เหมือน ถุงร้อนใส่แกง มีความขุ่น แสงผ่านได้น้อย อากาศผ่านได้ดี เหนียว ทนแรงฉีกขาดได้ดี หนากว่า ทนทานกว่า รับน้ำหนักได้มาก เหมาะสำหรับเพาะชำต้นกล้าขนาดใหญ่

ส่วนถุงดำเงา จะทำจากพลาสติก “ความหนาแน่นต่ำ LDPE” เหมือนถุงใส่น้ำหวาน มีความใส แสงผ่านได้ดี อากาศผ่านได้ดีกว่า  เหนียว ทนแรงฉีกขาดได้ดีแต่บางกว่า ทนทานน้อยกว่า รับน้ำหนักได้น้อยกว่า HDPE เหมาะสำหรับเพาะเมล็ด หรือ ต้นกล้าขนาดเล็ก

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา ในการเลือกซื้อ ก็คือถุงแบบไหน ที่เหมาะกับพันธุ์ต้นกล้าของเรา เพราะว่าถุงเพาะนี้ยังต้องทำหน้าที่เป็นกระถางปลูกชั่วคราวไปอีกนานหลายเดือน ดังนั้นถุงเพาะจึงต้องมีความหนา ทนแดด ทนน้ำ ทนฝน ไม่เสื่อมสภาพได้ง่ายๆ เก็บความชื้นได้ดี ถ้าเราต้องการความทนทาน ต้นกล้าที่เพาะมีขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาเพาะนาน  ถุงดำด้านน่าจะใช้การได้ดี แต่ถ้าเป็นการเพาะเมล็ด หรือเพาะพันธุ์ต้นกล้าที่บอบบาง มีขนาดเล็ก ถุงดำเงา ก็น่าจะเหมาะสม เพราะอากาศจะผ่านได้ดีกว่า

สำหรับความหนาของถุงนั้น เรียกว่า ไมครอน เช่น 100 ไมครอน มีค่าเท่ากับ 0.10 มิลลิเมตร ยิ่งหนามากยิ่งราคาสูงขึ้น เห็นไหมครับการประกอบอาชีพเกษตรกร เราต้องเข้าใจในรายละเอียดทุกเม็ดจริงๆนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook