สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ธนาคารน้ำใต้ดิน การรับมือน้ำท่วมน้ำแล้งด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น

ธนาคารน้ำใต้ดิน ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีพอเพียงกับการทำเกษตรกรรมในช่วงแล้ง เป็นการแก้ปัญหาที่สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล เกิดอุทกภัย และเกิดภัยแล้งตามมา พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับกลายเป็นขาดน้ำ ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายจากการที่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพเพราะได้น้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องตามมา จนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

แนวความคิดเรื่องการจัดการน้ำด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน คือการปฏิบัติการแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง พื้นที่ไหนมีน้ำท่วมซ้ำซากในทุกปี เราก็จะทำการกักเก็บน้ำต้นทุนช่วงน้ำท่วม ฝากไว้ในผืนดิน ด้วยการขุดบ่อเพื่อรับน้ำไว้ โดยมี 2 ระบบ คือระบบเปิดและระบบปิด ที่มีหลักการกักน้ำแตกต่างกันไป

ธนาคารน้ำใต้ดิน การรับมือน้ำท่วมน้ำแล้งด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น

สำหรับระบบเปิด เหมาะกับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อรองรับทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ด้วยการเก็บน้ำในช่วงที่เกิดน้ำท่วมไว้ชั้นดินและหินที่ลึกและมีพื้นที่การกักเก็บที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้รับน้ำได้อย่างไม่จำกัด ขนาดและความลึกของบ่อนั้นแตกต่างกันไปตามสภาพหน้างานและชั้นหินของพื้นที่ โดยเฉลี่ยก็ราว 10-12 เมตร แต่ต้องขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำเท่านั้นนะครับ เพื่อจะกักน้ำได้ รูปทรงของบ่อก็ทำแบบสระน้ำทรงสี่เหลี่ยมด้านบนแล้วค่อยๆ เอียงลาดลงไป ยิ่งลึกพื้นที่จะยิ่งแคบ เพื่อให้เกิดแรงดันน้ำลงไปยังใต้บ่อ เพื่อให้น้ำซึมลงไปชั้นหินได้เร็วขึ้น ปากบ่อให้ปล่อยเป็นพื้นที่ลาดเอียงเพื่อรับน้ำได้ง่าย ไม่ควรทำสันหรือเนินกั้นปากบ่อ  โดยเราจะต้องสร้างทั้งหมด 3 บ่อเชื่อมโยงกันเพื่อให้น้ำกระจายลงชั้นกินได้อย่างทั่วถึง ให้แต่ละบ่ออยู่ห่างกันในรัศมี 1-1.5 กิโลเมตรและเมื่อถึงหน้าแล้ง เราสามารถสูบน้ำจากบ่อขึ้นมาใช้ เมื่อใช้น้ำไปแล้ว น้ำในธนาคารน้ำใต้ดินก็จะซึมขึ้นมาแทนที่น้ำที่เราใช้ไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีน้ำไว้ทำการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดนั้น จะไม่รับน้ำลงไปลึกถึงชั้นดินเหนียวเหมือนระบบเปิด ขุดบ่อลึกเพียง 3-5 เมตรแล้วนำวัสดุเหลือใช้ในชุมชนมาใส่ลงไปในบ่อ เป็นการเก็บน้ำไว้เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน ไม่สามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้เหมือนระบบเปิด เหมาะสำหรับเพื่อนเกษตรกรที่ทำสวนขนาดใหญ่ ที่อยากให้พื้นดินชุ่มชื้น ทำให้เราใช้น้ำในการทำเกษตรน้อยลง และหากทำในพื้นที่ชุมชนเมือง ก็จะเป็นการนำน้ำเสียครัวเรือมาใช้ประโยชน์ในการให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน เป็นผลดีกว่าการปล่อยลงสู่แม่น้ำ ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ

ธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 ระบบจะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น ชุมชนไหนมีพื้นที่และลงมือทำก่อนก็ได้เปรียบคนอื่นล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook