สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ธรรมรักษา ไม้ประดับและไม้ตัดดอกช่อยาว

ต้นธรรมรักษาเป็นไม้ดอกที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเขตร้อนในทวีปอเมริกา เป็นไม้ดอกยอดนิยมชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มตลาดดีอย่างต่อเนื่อง เพราะมีช่อดอกหลากสีให้เลือก ดอกมีความคงทน สามารถปักแจกันได้นาน เกษตรกรผู้ปลูกมักจะปลูกเพื่อตัดดอกโดยมีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยประเทศที่เป็นผู้ซื้อดอกธรรมรักษารายใหญ่ ได้แก่ ญี่ปุ่นและฮ่องกง  นอกจากนี้ยังสามารถปลูกเพื่อขายเป็นไม้กระถางหรือไม้สำหรับจัดสวนได้ด้วย

ธรรมรักษาเป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู เป็นไม้ยืนต้นอวบน้ำมีเหง้าใต้ดินเป็นลำต้นแท้ และมีลำต้นเทียมแทงขึ้นมาเหนือดิน เป็นกาบใบซ้อนกันแน่นลักษณะเดียวกันกับกาบกล้วย มีใบเดี่ยวขนาดใหญ่ สีเขียว ขอบขนาน ปลายใบและโคนมนลักษณะคล้ายใบตองกล้วย เหง้าที่มีข้ออยู่ใกล้กันจนชิดจะมีกอที่แน่น ส่วนเหล้าที่ข้อเว้นระยะจากกันจะขยายกอได้กว้างและขยายได้เร็ว แตกดอกเป็นช่อที่กลางลำต้นเหนือดิน ลักษณะของช่อดอกธรรมรักษาจะมี 2 ลักษณะคือ เป็นช่อตั้งที่ชาวสวนเรียกกันว่า ก้ามกุ้ง และช่อแบบห้อยหรือเรียกกันออีกอย่างว่า ก้ามกั้ง

ดอกธรรมรักษาช่อตั้งยังถูกจัดออกเป็นกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มซิตาคอรัมที่มีลักษณะคล้ายปักษาสวรรค์ ให้ดอกตลอดปี มีหลายสายพันธุ์และหลายสี เช่น สีแดงเข้ม สีแดงม่วง สีชมพู สีแดงโคนเหลือง เป็นต้น กลุ่มสตริกตาที่มีดอกขนาดเล็กจนได้ชื่อว่าก้ามกุ้งเล็ก ดอกจะมีลักษณะแบน มีทั้งพันธุ์ที่ให้ดอกสีแดงและสีชมพู กลุ่มแองกุสตาจะผลิดอกเฉพาะช่วงฤดูหนาวเพียงปีละครั้ง ส่วนกลุ่มที่มีดอกขนาดใหญ่คือกลุ่มบอเจียนา บีไฮ และแคริเบีย เป็นต้น สำหรับชนิดดอกห้อยที่รู้จักกันดีจะเป็นกลุ่มรอสตราต้าที่เราเรียกกันว่ากลุ่มปากนกแก้ว ชาร์เตซี เพนดูล่า และ คอลลินเซียน่า เป็นต้น โดยพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ตัดดอก จะเป็นพันธุ์ดอกเล็ก เพราะได้ปริมาณดอกมากกว่าพันธุ์ดอกใหญ่

สำหรับการปลูกต้นธรรมรักษาในเชิงพาณิชย์จะต้องเน้นทำเลที่มีแสงแดดส่องถึงทั้งวัน เพราะแสงส่งผลกระทบต่อสีและการออกดอก สามารถปลูกได้ในดินเปรี้ยวหรือดินที่เค็มเล็กน้อย ค่าความกรด-ด่างของดินระหว่าง 5.4-6.2 เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี อุดมไปด้วยอินทรียวัตถุ การปลูกควรเว้นระยะประมาณ 1-2 เมตร ในช่วง 30 วันแรกควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง และควรใช้ตาข่ายบังแสงเพื่อพรางแสง หลังจากครบ 1 เดือนจึงให้รับแสงแดดเต็มที่ได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook