สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ธาตุอาหารพืช เรื่องต้องรู้ก่อนปลูกพืช

ธาตุอาหารพืช เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยทั่วไปเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องธาตุอาหารที่มี ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ซึ่งปรากฏบนถุงปุ๋ยเคมี แต่แท้ที่จริงแล้ว ธาตุอาหารไม่ได้มีเพียงเท่าที่เราเห็นในสูตรปุ๋ยเท่านั้น แต่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้นมีอยู่ถึง 16 ธาตุ แบ่งแยกไปตามความต้องการมากน้อยต่างกัน ธาตุที่เราเรียกว่ามหธาตุ จะเป็นธาตุที่พืชจำเป็นอย่างมาก ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ที่พืชได้รับธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้จากน้ำและอากาศอยู่แล้ว และยังมี ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียมและกำมะถัน ที่นับว่าเป็นมหธาตุ  และอีก 7 ธาตุที่เราเรียกว่าจุลธาตุ หรือธาตุที่พืชต้องการไม่มากนัก คือ เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดีนัม และคลอรีน ซึ่งธาตุหลักทั้ง 13 ชนิดนี้พืชจะได้รับจากดิน หากพืชขาดธาตุอาหารอาจจะทำให้การเจริญเติบโตของพืชไม่สมบูรณ์ มีผลกระทบต่อพืชผลที่เราปลูก

นอกจากธาตุอาหารพืชทั้ง 16 ชนิดที่เป็นธาตุอาหารหลักแล้ว ยังมีธาตุอาหารรองหรือธาตุเสริม ที่พืชจะนำมาใช้เพื่อกระตุ้นคุณสมบัติที่ดีแก่ต้นพืช เช่น  ซิลิก้า โซเดียม และโคบอลท์ เป็นต้น

วิธีการที่เราจะรู้ว่าดินในแปลงปลูกของเราต้องมีการปรับปรุงธาตุบ้างนั้น เราจะต้องมีการวิเคราะห์ดิน โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างดินมาทำการตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องเนื้อดิน อินทรียวัตถุ หากดินไม่เหมาะสมกับพืชที่เราจะปลูก ก็ต้องมีการปรับปรุงดิน เพิ่มปริมาณธาตุที่จำเป็นลงไปในดิน เพราะปริมาณอาหารในต้นพืชนั้น จะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการมีผลต่อปริมาณผลผลิตที่เราจะได้รับด้วย

การปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องหมั่นทำ โดยเฉพาะเมื่อเรามีการปลูกพืชต่อเนื่องกันหลายปี และใส่ปุ๋ยเดิมตลอดโดยไม่ใส่ใจเรื่องธาตุอาหารพืช จะส่งผลกระทบให้ดินนั้นมีธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไปและอาจมีธาตุอาหารที่จำเป็นน้อยเกินไปด้วย การให้ผลผลิตของพืชเกิดจากกระบวนการทำงานของลักษณะทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องของ แสง อากาศ ความชื้นและธาตุอาหารพืช เมื่อพืชทำการดูดธาตุอาหารผ่านทางราก จะลำเลียงไปยังใบ เพื่อนำไปสังเคราะห์แสงสร้างอาหารและแตกยอด แตกกิ่ง ออกดอก ให้ผลและเมล็ดต่อไป

พืชจะออกดอก ออกผล เร็ว ช้า มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการปรับธาตุอาหารให้เหมาะสม หากเติมน้อยไปพืชขาดธาตุอาหารที่จำเป็นก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ขณะเดียวกันหากดินมีธาตุอาหารเพียงพอต่อพืชแล้ว เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อนำธาตุอาหารพืชที่มีอยู่แล้วมาเติมเพิ่มเข้าไป เป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการวิเคราะห์ดินและมีความเข้าใจในธาตุอาหารของพืชที่เราปลูกจึงนับว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรทุกคนครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook