สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

น้ำบาดาล ต้องเจาะระดับความลึกที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

น้ำบาดาล นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับเกษตรกร เพราะถือว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีต้นทุนในการจัดหาต่ำกว่าแหล่งน้ำต่างๆ  เพราะน้ำบาดาลนั้นเป็นน้ำใต้ดินที่แทรกซึมอยู่ทั่วไป โดยมีต้นกำเนิดของน้ำจากฝนและแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินที่ซึมผ่านชั้นดินลงไปสะสมอยู่ในชั้นดินหรือช่องว่างระหว่างช่องหิน ปริมาณของน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไปตามโครงสร้างของชั้นดินและชั้นหิน ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

น้ำใต้ดินนั้นมีปริมาณน้ำมากหรือน้อยผันแปรไปตามฤดูกาล แต่ข้อดีคือจะไม่แปรปรวนรวดเร็วมากนักเมื่อเทียบกับแม่น้ำ ลำคลอง เพราะมีชั้นของหินและดินเป็นกลไกสำคัญในการรักษาระดับน้ำ และความลึกของแหล่งน้ำบาดาลแต่ละพื้นที่นั้นต่างกัน บางแห่งมีแหล่งน้ำบาดาลลึก 10-15 ฟุต ขณะที่บางแห่งอาจจะลึกถึง 100-120 ฟุตก็ได้ น้ำบาดาลทุกจุดจะมีเกลือที่เป็นสารละลายจากชั้นหินปะปนมาด้วย และอาจจะมีสารเคมีปะปนอีกด้วย

ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น น้ำผิวดินมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณของน้ำฝนมีความแปรปรวนตามไปด้วย อาชีพเกษตรกรอย่างเรานั้นจึงต้องพึ่งพาน้ำบาดาลมาเป็นแหล่งน้ำหลักในการทำเกษตรกรรม เพื่อป้องกันสภาวะน้ำแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตของเรา รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อการทำปศุสัตว์ด้วย เพื่อนๆ เกษตรกรจึงได้มีการนำมาน้ำบาดาลมาใช้ โดยเริ่มจากการสร้างบ่อน้ำตื้นในชุมชน และขยายไปสู่การขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง เพื่อเอื้อให้การทำเกษตรกรรมง่ายขึ้น โดยการเจาะน้ำบาดาลและติดตั้งเครื่องสูบไฟฟ้าเพื่อนำน้ำมาใช้ในดูแลผลผลิตในแปลงและฟาร์มของเราต่อไป

สำหรับการนำบาดาลขึ้นมาใช้ในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงนั้น ในปัจจุบันมักจะต้องอาศัยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ต่อเข้ากับปั๊มน้ำ หรือที่เราเรียกว่าโซล่าเซลล์นั่นแหละครับ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนหนักแค่ครั้งเดียวเฉพาะค่าอุปกรณ์และติดตั้ง หลังจากนั้นเราก็ใช้พลังงานฟรี เพราะแสงอาทิตย์นั้นเราไม่ต้องซื้อครับ เมืองไทยเราส่วนใหญ่มีแดดแรงและมีช่วงเวลากลางวันที่ยาวนากว่าหลายๆ ประเทศครับ เป็นการลดต้นทุนการผลิต และน้ำบาดาลที่เราสูบขึ้นมาใช้ก็ถือว่าเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย หรือหากเพื่อนๆ จะใช้ปั๊มน้ำต่อเข้ากับเครื่องปั่นไฟก็ได้ครับ ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นจะประยัดกว่าโซล่าเซลล์ แต่มีข้อด้อยคือเราต้องเติมน้ำมันและยังต้องคำนวณเรื่องของขนาดเครื่องปั่นไฟให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความร้อนจนเครื่องช็อตได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพหน้าแปลงปลูกของเพื่อนๆ ครับ ว่าจะสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้แบบไหน ให้มีน้ำเลี้ยงผลผลิตอย่างเพียงพอ และไม่ฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook