สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณสมบัติทางชีวเคมีของน้ำผึ้งชันโรงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงบ้านต้นเลียบ ต.รำพัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อผลักดันให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

ชันโรงเป็นแมลงที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มีผู้นิยมเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ ถึงแม้ผลิตภัณฑ์จากชันโรงจะไม่ได้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูง สามารถผลักดันให้เป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกในลักษณะตลาดเฉพาะ หรือการนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายชนิดของชันโรงและพืชอาหาร สามารถเลี้ยงชันโรงได้ทั่วทุกภาค โดยการเลี้ยงชันโรงเชิงอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นจากการเลี้ยงในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ เช่น จันทบุรี และตราด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแมลงผสมเกสรให้แก่ไม้ผล เช่น เงาะ ลำไย หลังจากการใช้ชันโรงช่วยผสมเกสรได้ประสบความสำเร็จจึงมีเกษตรกรสนใจเลี้ยงชันโรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากชันโรง ได้แก่ น้ำผึ้งชันโรง ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500 – 2,000 บาท เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ซึ่งในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรสนใจเลี้ยงชันโรงเพิ่มมากขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้น แนวโน้มผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงของประเทศจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาข้อมูลด้านคุณสมบัติทางชีวเคมีและการหาคุณลักษณะพิเศษของน้ำผึ้งชันโรง สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณค่าของน้ำผึ้งชันโรงได้ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนการพัฒนาแนวทางด้านการตลาด ซึ่งตลาดของน้ำผึ้งชันโรงในปัจจุบันเน้นการขายสินค้าให้กับคนเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มีกำลังซื้อแต่ต้องการข้อมูลในเชิงลึกของผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อมูลจริงและมีความน่าเชื่อถือ องค์ความรู้จากงานวิจัยจึงมีความสำคัญในการผลักดันในเรื่องการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงให้สามารถจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) บ้านต้นเลียบ ต.รำพัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 24 คน มีรายได้หลักจากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชได้แก่ สละ เงาะ มังคุด ทุเรียน มะพร้าว ลองกอง ลำไย พริกไทย กล้วย ข้าว ข้าวโพด การเลี้ยงชันโรงเริ่มต้นจากการนำชันโรงมาเลี้ยงเป็นแมลงช่วยผสมเกสรในสวนผลไม้ ต่อมาได้ขยายพันธุ์ชันโรงเพิ่มมากขึ้นจนสามารถเก็บน้ำผึ้งจากชันโรงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และมีรายได้จากการให้เช่ารังชันโรงเพื่อนำไปเป็นแมลงผสมเกสรให้กับพืชในต่างพื้นที่ ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากชันโรงภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “น้ำผึ้งชันโรงวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นเลียบ” มีช่องทางการจำหน่ายโดยการนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าระดับจังหวัด ภาค และประเทศ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรง ว่ามีข้อดี มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง การบริโภคจึงไม่แพร่หลายมากนัก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้องการความรู้ทางวิชาการไปช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ น่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น และมุ่งหวังการจำหน่ายแบบยั่งยืนมากกว่าการเป็น “สินค้าในกระแส” ที่โด่งดังและขายดีเพียงระยะเวลาอันสั้น

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะผู้วิจัยในโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณสมบัติทางชีวเคมีของน้ำผึ้งชันโรงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงบ้านต้นเลียบ ต.รำพัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อผลักดันให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ” โดยมี ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาและเชื่อมโยงข้อมูลด้านคุณสมบัติทางชีวเคมีและคุณลักษณะพิเศษของน้ำผึ้งชันโรง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้คุณค่าของน้ำผึ้งชันโรง ในการค้นหาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าของสินค้า สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มและชุมชน การสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนผู้ผลิตอย่างยั่งยืนในอนาคต และข้อมูลที่ได้จากการวิจัยสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดทำมาตรฐานน้ำผึ้งชันโรงของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook