สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

บุก พืชหัวเพื่อคนรักสุขภาพ

บุก หรือหัวบุก มีถิ่นกำเนิดมาจากทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มาจนถึงอินโดจีน ในประเทศไทยเราพบว่ามีต้นบุกในแทบทุกจังหวัด และมีการนำประกอบเป็นอาหารนานแล้ว บุกเป็นพืชอาหารตระกูลเดียวกับมัน เป็นพืชล้มลุก นิยมนำมาแปรรูปเป็นแป้งหรืออาหารเสริม เพราะมีกากใยสูง

ต้นบุก มีความสูงไม่เกิน 3 เมตร ขนาดของลำต้นนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่แตกต่างกันไป หักล้มได้ง่ายเพราะเนื้อเยื่อของลำต้นไม่แข็ง มีหัวบุกฝังอยู่ใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งสะสมของคาร์โบไฮเดรต เปลือกของหัวบุกมีสีสันและพื้นผิวแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ บ้างก็มีสีเหลือง สีน้ำตาล ผิวเรียน ผิวกร้านขรุขระ แต่เนื้อในบุกส่วนใหญ่จะมีสีขาวครีม ผิวเนื้อละเอียด เรียบ มีเมือกด้านใน หัวบุกจะมีน้ำหนักหัวละประมาณ 5-10 กิโลกรัม เมื่ออายุมากก็จะมีน้ำหนักหัวที่เพิ่มขึ้น และสามารถแตกเป็นหัวใหม่ได้ถึง 5-10 หัว และใช้เวลาในการปลูกประมาณ 1 ปีจึงจะเก็บเกี่ยวได้ และเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 5-6 ปี เมื่อลำต้นเหี่ยวตาย หัวบุกจะแตกดอกทันที

แม้ว่าจะมีบุกนับร้อยสายพันธุ์ แต่กลับพบว่าบุกที่เรานิยมรับประทานมีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้นเองครับ ที่นิยมที่สุกคือบุกไข่และพันธุ์เนื้อทราย โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้บุกเบิกนำหัวบุกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ขนมหวาน เส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีสารที่ช่วยในการลดน้ำหนักที่ชื่อ กลูโคแมนแนน ที่อยู่ในหัวบุก ที่มีไฟเบอร์สูงมาก และเป็นใยอาหารจากธรรมชาติ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากบุกได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนักตัวอย่างมาก นอกจากนี้บุก ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อใช้เป็นสารเพิ่มความหนืด ทำให้อาหารมีความคงตัว โดยเฉพาะกลุ่มวิปปิ้งครีมหรือเนยต่างๆ และสามารถนำไปใช้เป็นสารเคลือบผิวผลไม้เพื่อยืดอายุผลไม้ได้

บุกเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย เติบโตได้ดีในดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี ไม่มีลมแรงเกินไป มีแดดเข้าถึงประมาณวันละไม่เกิน 6 ชั่วโมง ไม่มีฝนทิ้งช่วง โดยนิยมปลูกกันในช่วงต้นฝน การขยายพันธุ์สามารถทำได้โดยใช้ส่วนหัวใต้ดินที่มีขนาดประมาณ 150 กรัม จุ่มในสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราก่อนทำการปลูกแบบเว้นระยะปลูก 30*30 เซนติเมตร ฝังหัวพันธุ์ให้หน่อกลางขึ้นด้านบน ให้ส่วนหัวอยู่ลึกจากผิวดิน 5 ซม. แล้วทำการรดน้ำพอชุ่ม และทำการขึงสแลนบังแดดทั่วแปลงหากไม่มีร่มเงาของต้นไม้บังแดดได้ดี และควรหมั่นกำจัดวัชพืช เมื่ออายุ 2-3 ปี เราก็สามารถเก็บเกี่ยวหัวใต้ดินไปแปรรุปได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook