สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลากราย ปลาเนื้ออ่อนยอดนิยม

ปลากราย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Spotted Knife Fish หรือ Spotted Featherback เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด และเนื้อปลาได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค เพราะเป็นปลาเนื้ออ่อน สีของเนื้อปลาขาวอมชมพูน่ารับประทาน มีเนื้อเยอะ  ก้างและเลือดน้อย สัมผัสของเนื้อมีความหนึบและนุ่ม รสชาติดี โดยเมนูที่โดดเด่น คือ ทอดมัน ห่อหมก และ เชิงปลากรายทอดกระเทียม ลาบปลากราย เป็นต้น และยังได้นำมาผลิตเป็นลูกชิ้นปลากราย จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ปลากรายเป็นปลาที่มีลำตัวแบน ไหล่กว้าง ผิวหนังมันเลื่อมวาววับสีขาวประกายเงิน แต่บริเวณหัวและหลังจะมีสีที่เข้มกว่าบริเวณท้อง มีเกล็ดเล็กๆ ปกคลุมผิวหนังอีกชั้นหนึ่ง หางปลายาว เพศเมียจะมีลำตัวที่สั้นกว่าเพศผู้ และยังมีครีบท้องที่สั้นกว่าเพศผู้อีกด้วย ปลาชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไป โดยจะทำการวางไข่ระหว่างเดือนเมษายนจนกระทั่งเดือนตุลาคม ยิ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีฝนจะมีวางไข่ได้เยอะมาก เพราะดินมีความชุ่มชื้นสูง ทำให้บริเวณโคนต้นไม้ที่เป็นแหล่งวางไข่ของปลาสามารถขุดเป็นโพรงได้โดยง่าย โดยตัวผู้จะขุดหลุมไว้ที่โคนต้นไม้เพื่อให้ตัวเมียวางไข่ และใช้เวลาไม่เกิน 7 วันหลังจากวางไข่จึงฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วตัวเมียแต่ละตัวจะวางไข่ได้ครั้งละ 5,000 ฟองขึ้นไป ลูกปลากรายที่ฟักออกมาแล้วนั้น บริเวณท้องจะมีถุงอาหารติดออกมาด้วย ซึ่งถุงจะเล็กลงเรื่อยๆ และใช้เวลาประมาณ 3-5วันถุงอาหารจะหายไป และลูกปลาต้องหาอาหารจากในแหล่งน้ำอย่างสัตว์น้ำขนาดเล็กกินด้วยตัวเอง

หากเพื่อนๆ เกษตรกรมีความสนใจที่จะทำธุรกิจเลี้ยงปลาชนิดนี้ ควรต้องศึกษาเรื่องการเพาะพันธุ์และการอนุบาลปลาให้ละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์แรกจะต้องใส่ใจเรื่องของการให้อาหารอย่างเหมาะสม ทั้งไรแดงและไข่ต้มนั้นขาดไม่ได้เลยครับ ในสัปดาห์ที่ 3 จึงเปลี่ยนมาให้ ไรแดงผสมกุ้งหรือปลาบด อย่างน้อยวันละ 2 มื้อ หากพบว่ามีเศษเหลืออยู่ตามผิวน้ำแสดงว่าให้อาหารมากเกินไป ให้ลดปริมาณลง และอาจเพิ่มความถี่ในการให้อาหารแทน เพราะปลาจะเจริญได้ดีหากได้รับโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม โดยแต่ละช่วงอายุสีผิวของปลาก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากสีน้ำตาลกลายเป็นสีเทาดำแล้วค่อยๆ จางเป็นสีเงินไปเรื่อยๆ และเริ่มจะมีลายขวางตามลำตัวเกิดขึ้น เมื่อปลามีลำตัวยาวถึง 8-12 เซนติเมตรให้ย้ายไปลงบ่อดินหรือบ่อปูนที่เราเตรียมไว้ในสัดส่วนไม่เกิน 15 ตัวต่อตารางเมตร ใช้เวลาเลี้ยงต่อไปประมาณ 5 เดือน จนปลาได้ขนาดที่พอเหมาะก็เก็บเกี่ยวนำไปสร้างรายได้กันต่อไปครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook