สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลากะพงน้ำจืด ความพร้อมคือที่มาของความสำเร็จ

ปลากะพง เป็นอาหารจานหลักบนโต๊ะจีนงานเลี้ยงต่างๆ รวมไปถึง ร้านอาหารทะเลซีฟู้ดทั้งหลายในอดีตเรานิยมกินปลากะพงกันในฐานะปลาทะเลแสนอร่อยราคาแพง และยังนิยมกินกันต่อเนื่องมายาวนานนับเป็นสิบปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปลากะพงเหล่านี้ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเชิงการค้าแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่ปลาทะเลในธรรมชาติ และหลายคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าทุกวันนี้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ซึ่งไม่มีทะเล ก็เริ่มมีเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากะพงในน้ำจืดแบบบ่อดิน เหมือนกับการเลี้ยงปลาน้ำจืดทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่อะไรนัก โดยเฉพาะกับปลากะพงขาว ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด เพราะมันได้ชื่อว่าเป็นปลา 3 น้ำ ที่มีชีวิตอยู่ได้ทั้งในสภาพน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม

ปลากะพง เป็นปลาเลี้ยงง่าย โตเร็ว นิยมเลี้ยงในกระชัง ตามจังหวัดต่างๆ ที่มีแหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำและจังหวัดที่ติดทะเล โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงมากที่สุดบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ทะเลสาบสงขลา แต่ต่อมามีบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับทะเล หรือใกล้กับแหล่งน้ำกร่อยได้ปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงในกระชังมาเพาะเลี้ยงในบ่อดินแทน เพราะปัญหาขาดทุน เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเน่าเสีย หรือปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งยากที่จะควบคุมได้ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงปลากะพงในบ่อดินด้วยน้ำจืดขึ้นมา

ปัจจุบัน การเลี้ยงปลากะพงน้ำจืดในบ่อดินเชิงพาณิชย์ มีต้นทุนสูงมากถ้าเทียบกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆเช่นปลานิล ปลาช่อน เพราะต้องซื้อลูกปลากะพงมาเลี้ยงราคาเฉลี่ยตัวละ 8 บาท ต้องใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเลี้ยงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท ต้องใช้เครื่องตีน้ำเพิ่มออกซิเจนให้ปลาตลอดในช่วงกลางคืน จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอตลอดการเลี้ยง ต้องมีแหล่งน้ำสำรองเพียงพอ ต้องมีความรู้ด้านการปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมซึ่งปลากะพงที่เลี้ยงไว้อาจจะเติบโตได้ดี แต่เมื่อคิดต้นทุนทั้งหมดแล้วอาจขาดทุน เพราะผู้เลี้ยงอาจขาดความรู้ขาดประสบการณ์ ไม่มีความพร้อมเรื่องแหล่งน้ำ และไม่สามารถควบคุมหรือลดต้นทุนต่างๆ ในการเลี้ยงลงได้ แม้จะมีเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยง มีรายได้ เป็นกอบเป็นกำ จนเป็นข่าวให้เห็นในสื่อต่างๆ แต่ก็ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาน้ำจืดเป็นอาชีพหลัก และที่สำคัญก็คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงน้ำจืดเชิงการค้าได้สำเร็จเหล่านี้ มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความรู้ทางด้านประมง มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมด้านการตลาด สถานที่และเงินลงทุน

ดังนั้น เพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจเรื่องการเลี้ยงปลากะพงน้ำจืดนี้อย่างจริงจัง จำเป็นต้องสร้างความพร้อมให้กับตัวเองให้ครบทุกด้าน โดยอาจเริ่มต้นจากบ่อทดลองขนาดเล็ก เริ่มเลี้ยงปลาในจำนวนน้อยๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และหาความรู้ไปในตัว โดยมีหน่วยงานประมงจังหวัด เป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้เรื่องนี้ได้ดีที่สุดครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook