สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลากัด ปลาพันธุ์ไทย ดังไกลถึงต่างแดน

ปลากัดปลาสวยงามไซส์เล็ก เป็นปลากัดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเรา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Siamese  Fighting  Fish บ่งบอกถึงสายเลือดนักสู้ที่มีความทนทายาท แต่เดิมนั้นจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นงานอดิเรกและนำปลาไปกัดแข่งความทรหดกัน ปัจจุบันถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพิ่มมากขึ้น ตามธรรมชาติแล้วปลาชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่ไหลเอื่อยๆหรือน้ำนิ่ง บริเวณที่มีน้ำตื้นและมีไม้น้ำปกคลุมจำนวนมาก กินเนื้อสัตว์เล็กและแมลงเป็นอาหาร มักมีพฤติกรรมไล่ล่าปลาต่างๆ ดังนั้นเมื่อนำมาเลี้ยงจึงต้องเลี้ยงแยกเป็นรายตัวในขวดโหลขนาดเล็ก

ปลากัดเป็นปลาที่สวยงามมีขนาดลำตัวยาวราว 5-7 เซนติเมตร ลำตัวแบนและเรียวยาว มีเกล็ดบริเวณหัวปลา มีฐานครีบหางที่ยาว มีก้านครีบ 23-25 อัน ลำตัวมีสีเทาปนดำ ส่วนครีบจะมีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และการดูแล แต่โดยส่วนใหญ่จะมีสีสันสดใสสวยงาม ทั้งนี้ลักษณะของปลากัดแต่ละสายพันธุ์สามารถสังเกตได้ดังนี้ ปลากัดลูกหม้อ จะมีส่วนหัวที่ใหญ่ ปากกว้าง ลำตัวหนา ครีบสั้น สีของครีบแต่เดิมจะมีสีน้ำเงินปนแดง เป็นปลาที่มีความทรหดสูง มักนิยมนำไปกัดเพื่อแข่งขัน ส่วนปลากัดลูกทุ้งจะเป็นพันธุ์ที่ตัวยาวและเล็กกว่าพันธุ์แรก แต่ครีบยาวกว่า มีสีครีบเป็นสีแดงปนเขียว สีไม่จัดจ้านมาก เป็นปลาที่มีปากคมกัดได้ไว้ แต่มักตื่นตระหนกง่าย จึงไม่เหมาะต่อการนำไปกัดแข่งขันในระยะเวลายาวนานเกินกว่า 30 นาที จึงได้มีการนำปลากัดทั้ง 2 สายพันธุ์มาผสมกัน เพื่อให้ได้ปากที่คมและความไวในการกัดของพันธุ์ลูกทุ่ง มาผนวกกับความทรหดของพันธุ์ลูกหม้อ จนกลายเป็นพันธุ์ลูกผสมที่เรียกกันว่า พันธุ์ลูกตะกั่วหรือพันธุ์สังกะสีนั่นเอง ส่วนปลากัดที่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นปลากัดสวยงามนั้น นิยมเลี้ยง ปลากัดจีน ที่มีครีบหางยาวโดดเด่นสะดุดตาและมีสีหลากหลายสวยงาม แต่ไม่มีความทรหดเท่ากับ 3 พันธุ์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ปัจจุบันเมื่อตลาดมีความต้องการปลากัดสวยงาม จึงได้มีการพัฒนาด้านความงามของครีบและสีสันเพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็นปลากัดพันธุ์ใหม่ๆ ที่มักจะเรียกชื่อตามลักษณะเด่นและลักษณะรูปทรงของหาง เช่น ปลากัดหางพระจันทร์ ปลากัดสองหาง ปลากัดหางหนามมงกุฎ และปลากัดครีบยาวครีบยาวแฟนซี เป็นต้น

สำหรับการแพร่พันธุ์ของปลากัดนั้น ตามธรรมชาติจะสามารถแพร่พันธุ์ได้ตลอดทุกฤดู       ส่วนเพื่อน ๆ เกษตรกรที่สนใจเพาะเลี้ยงนั้น อาจจะเริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน ที่มีความลึกประมาณ 50 เซนติเมตรและมีการนำพรรณไม้นำมาเติมลงไปให้ทั่วบ่อเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว แล้วนำปลาเพศผู้จากบ่ออนุบาลมาปล่อยประมาณ 100- 150 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารเม็ด ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2 เดือน จะสามารถนำไปแยกใส่ขวดเพื่อจำหน่ายต่อไปได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook