สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาช่อน ปลาที่ตลาดต้องการเสมอ

ปลาช่อน เป็นปลาพื้นเมืองของไทย ที่พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้วย หนองคลอง บึง บ่อ อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำไม่เว้นแม้แต่แหล่งน้ำในเรือกสวนไร่นา เป็นปลาที่อดทนต่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติได้มาก เพราะมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ สามารถจำศีลอยู่ในโคลนที่ชุ่มชื้นได้นานนับเดือนสมัยก่อนตามชนบทต่างๆ โดยเฉพาะช่วงฤดูทำนา เกษตรกรสามารถหาปลาช่อนในนา มาทำกับข้าวกินกันได้แทบทุกวัน ที่นิยมเรียกกันว่าปลาช่อนนา ต่างไปจากทุกวันนี้ที่ปลาช่อนนา หาได้ยากมากขึ้นเพราะปลาลดจำนวนลงไปมาก ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงวิถีการทำนาที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันปลาช่อน ในแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน เพียงแต่มีปริมาณน้อยลงไม่ได้หาได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ทำให้ปลาช่อนที่ขายกันในท้องตลาดทั่วไปนั้น เป็นปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงแทบทั้งสิ้น แม้ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปลาเลี้ยงอร่อยสู้ปลาธรรมชาติไม่ได้ก็ตาม แต่ปลาช่อนก็ยังเป็นที่นิยมกันมากอยู่ดี ทำให้การเลี้ยงปลาช่อนนั้นมีรายได้ดี ปลาเป็นที่ต้องการเสมอ และที่สำคัญคือเป็นปลาที่เลี้ยงยาก คนจึงนิยมเลี้ยงน้อยกว่าปลาชนิดอื่น

ปลาช่อน ที่เลี้ยงกันอยู่ส่วนใหญ่ นิยมเลี้ยงกันในบ่อดิน ขนาด 2 งาน หรือ 1 ไร่ ตามความเหมาะสม  เพราะบ่อดินมีสภาพใกล้เคียงธรรมชาติของปลามากที่สุด ทำให้ปลาโตเร็วและได้ขนาดตามที่ต้องการได้ไว แต่การเลี้ยงปลาช่อนในบ่อดินมีอุปสรรคเหมือนที่บอกว่าเลี้ยงยาก เพราะบ่อเลี้ยงต้องอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถดึงน้ำมาใช้ได้ตลอด หรือไม่ก็ต้องมีแหล่งน้ำสำรองในปริมาณมากเพียงพอ เพราะการเลี้ยงปลาช่อนตลอดระยะเวลา 8-9 เดือน ต้องมีการเปลี่ยนน้ำในบ่ออย่างน้อยทุกเดือน ซึ่งปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อต้องให้อาหารสดผสมจึงทำให้น้ำเน่าเสียง่าย ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดอย่างเดียวต้นทุนก็สูงมาก และถึงอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อให้ตลอดอยู่ดี เพราะถ้าไม่เปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ปลาช่อนก็ไม่เติบโต นอกจากนี้ลูกปลาช่อนที่นำมาเลี้ยงในช่วง 2เดือนแรก ถ้าได้อาหารไม่พอกินหรือได้อาหารไม่เท่ากัน ปลาจะมีขนาดต่างกัน ปลาตัวใหญ่จะกินปลาตัวที่เล็กกว่าจนหมด ควรใช้อวนลากลูกปลาขึ้นมาตรวจดูถ้าปลามีขนาดต่างกันมากต้องให้อาหารเพิ่ม

สำหรับการเลี้ยงปลาช่อนในบ่อปูน เหมาะกับเพื่อนๆ เกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย หรือเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริม และข้อสำคัญก็คือเรื่องน้ำที่จะนำมาเลี้ยงเช่นกัน โดยมากนิยมใช้น้ำบาดาล ซึ่งบ่อปูนขนาดจะเล็กกว่าทำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จำนวนลูกปลาที่เลี้ยงก็ไม่หนาแน่นมากเท่ากับบ่อดิน การให้อาหารอย่างทั่วถึงเพื่อป้องกันปลากินกันเองจึงทำได้ง่ายกว่า แต่ข้อเสียของการเลี้ยงปลาช่อนในบ่อปูนก็คือ ปลาจะเติบโตได้ช้ากว่าการเลี้ยงปลาช่อนในบ่อดินเกือบ 2 เดือน กว่าจะได้ปลาที่มีขนาดเท่ากัน แต่หากจะเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริมก็นับว่าเป็นวิธีการสร้างรายได้ที่ดีทีเดียวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook