สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลานิลแดง ก่อนจะเลี้ยงต้องเลือก

ปลานิลและปลานิลแดงเป็นสัตว์น้ำที่ได้รับการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เพราะมีตลาดรองรับกว้างขวาง ถือว่าเป็นปลาน้ำจืดที่สร้างเม็ดเงินได้มากทำให้มีช่องว่างให้ขยายโอกาสแก่เกษตรกรมือใหม่อีกมาก ดังที่เรารู้กันดีว่าปลานิลเป็นปลาที่เติบโตในแหล่งน้ำจืด เป็นปลาในกลุ่มปลาหมอสี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตอนเหนือของแอฟริกา และถูกนำไปเพาะพันธุ์เลี้ยงเป็นปลาเชิงพาณิชย์ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น สามารถหาซื้อปลานิลและปลานิลแดงได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปได้ และส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนามและไทย

ปลานิลแดงเป็นปลาลูกผสมจากพันธุ์ปลานิลดั้งเดิมเพศเมียและปลาหมอเทศเพศผู้ จึงมีลักษณะร่วมของทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ มีลักษณะตัวแบบปลานิล และมีปากเฉียงตามแบบของปลาหมอเทศ การเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องให้ความสำคัญกับสายพันธุ์ปลาที่เป็นสายพันธุ์ดี โดยสามารถเลือกว่าจะเลี้ยงสายพันธุ์ไทย ที่มีลำตัวสีชมพูแดงปนขาวและมีจุดด่างที่ดำประปราย หรือสายพันธุ์ปทุมธานีที่ทนความเค็มของน้ำได้ เหมาะแก่การเลี้ยงในบ่อกุ้งน้ำกร่อย สีลำตัวจะเป็นสีชมพูปนส้ม ตัวหนาและกว้าง หรือจะเป็นสายพันธุ์ทับทิมที่มีส้มแดง และยังมีสายพันธุ์สเตอริง สายพันธุ์มาเลเซีย และสายพันธุ์ไต้หวัน ซึ่งจะต้องทำการศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละสายพันธุ์อย่างละเอียด เพื่อจะได้ผลผลิตตอบโจทย์ผู้เพาะเลี้ยงและตลาดมากที่สุด

นอกจากการตัดสินใจคัดเลือกสายพันธุ์แล้ว กระบวนการถัดมาคือเรื่องการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ แต่ไม่ว่าจะเลี้ยงปลานิลแดงสายพันธุ์ใดก็ตาม ต้องวางแผนเรื่องของบ่อเพาะพันธุ์ไว้ด้วยว่าจะเลี้ยงในบ่อแบบไหน จะเป็นบ่อดิน บ่อซีเมนต์ หรือกระชัง เพราะบ่อแต่ละแบบจะมีขั้นตอนการดูแลในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างกันไป รวมทั้งอัตราการปล่อยปลาในบ่อแต่ละแบบด้วย โดยบ่อดินยังมีแบบบ่อดินดั้งเดิม บ่อดินแบบกึ่งพัฒนา และบ่อดินพัฒนา อีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องจัดการในเรื่องของอาหารและยาให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อความสมบูรณ์ของปลาและความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับการจับปลาขึ้นมาขายนั้นมักจะจับเมื่อปลามีน้ำหนักตัวประมาณ 4-5 ขีดขึ้นไปซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับตลาดเป้าหมายที่เกษตรกรจะนำส่ง เช่น หากนำส่งอุตสาหกรรมโรงงานผลิตปลาแช่แข็ง ปลานิลแดงต้องมีน้ำหนักมากกว่า 4 ขีด แต่โรงงานจะชอบขนาดน้ำหนัก 8 ขีดขึ้นไปมากกว่าเพราะง่ายต่อการแล่เนื้อ แต่โดยส่วนใหญ่ทางเกษตรกรมักจะขายผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อลดการจัดการขนส่งลงไปได้ แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางรายที่นำไปส่งแก่สะพานปลาด้วยตนเองเช่นกัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook