สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาสร้อย ทำอาหารก็ดี เลี้ยงสวยงามก็เด่น

ปลาสร้อย เป็นปลาตัวเล็กที่พบได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไปในทุกจังหวัดของประเทศไทยเรา โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีปลาเหล่านี้จำนวนมาก สามารถนำมาบรโภคเป็นอาหารในครัวเรือนทั้ง ย่าง ทอด แกง ได้เต็มที่ และด้วยปริมาณของปลาที่มีมากในฤดูนี้ จึงเกิดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำมาแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร ไม่ว่าจะนำมาทำปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม ปลาแห้ง เพื่อเก็บไว้บริโภคในช่วงฤดูแล้งต่อไป นอกจากใช้เป็นอาหารแล้วปลาสร้อยบางชนิดยังจัดเป็นปลาตู้ประเภทสวยงามที่นิยมนำไปเลี้ยงในตู้ปลากันด้วย

ปลาสร้อยในประเทศไทยเรานั้นมีอยู่หลายชนิด ถูกเรียกชื่อตามสีของลำตัวบ้าง เช่น ปลาสร้อยขาว ปลาสร้อยน้ำผึ้ง เป็นต้น บ้างก็เรียกตามลักษณะของส่วนต่างๆ ของปลาบ้าง เช่น ปลาสร้อยนกเขา ปลาสร้อยหัวแหลม ปลาสร้อยครีบแดง ปลาสร้อยตาแดง ปลาสร้อยไส้ตัน ปลาสร้อยข้างลาย ปลาสร้อยหางจุด ปลาสร้อยหลังขน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ตั้งชื่อให้วิลิสมาหราหรือสลับซับซ้อนนัก ทำให้คนทั่วไปสามารถเรียกชื่อได้ง่ายและระบุตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปลาสร้อยที่เราจะมาแนะนำให้รู้จักมี 2 ชนิดคือ ปลาสร้อยขาว หรือบางทีก็เรียกว่าปลาสร้อยหัวกลมตามลักษณะของหัวปลา ที่พบได้มาก และปลาสร้อยนกเขาที่จัดว่ามีขนาดตัวใหญ่มากในกลุ่มปลาสร้อยและมีจนวนการกระจายพันธุ์สูงเช่นกัน ปลาสร้อยขาวจะมีความยาวของลำตัวไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลักษณะหัวปลาทู่และกลม ลำตัวค่อนข้างแบน ปากเล็ก มีหนวด 1 คู่ ลำตัวจะมีสีขาวประกายเงิน ครีบหลังสีเทาเงิน 1 ครีบ ครีบหางมีรอยสีดำขนาดเล็กแต่งแต้ม กินพืชน้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร มักจะผสมพันธุ์และวางไข่ช่วงฤดูฝนของแต่ละท้องที่ โดยปลาที่สมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์จะมีลำตัวยาวมากกว่า 11 เซนติเมตร วางไข่ได้ถึง 20,000-90,000 ฟองต่อครั้งและใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงในการฟักออกเป็นตัว จึงมีปริมาณปลาจำนวนมากในแหล่งน้ำต่างๆ จนกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ของคนไทยเรา

ส่วนปลาสร้อยนกเขา ก็ถือว่ามีปริมาณการกระจายพันธุ์ไม่ด้อยไปกว่าสร้อยขาว แต่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า โดยมีความยาวได้ถึง 30-50 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่จะพบในแหล่งน้ำทั่วไปที่ขนาดยาว ไม่เกิน 15 เซนติเมตร ลักษณะลำตัวจะสั้นๆ แต่อวบ ส่วนท้องหนากลม หนวดมี 2 คู่ ลำตัวสีดำแกมเขียว สีสันของครีบต่างๆ สวยงาม ทำให้คนนิยมนำไปเลี้ยงเป็นปลาตู้นอกเหนือจากการนำมารับประทานเป็นอาหารดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว โดยในบางพื้นที่จะเรียกปลาชนิดนี้ว่า ปลาซ่าหรือปลาขี้ขมอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook