สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยอินทรีย์ของดีใกล้ตัว

ปุ๋ยขี้วัว เป็นของเสียจากวัวที่เกิดจากอาหารสัตว์ที่กินเข้าไปแล้วไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หมดหรือย่อยได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะผ่านกระบวนการย่อยสลายในระบบทางเดินอาหารบ้างแล้วก็ตาม จึงกลายเป็นกากของเสียที่ประกอบด้วยเศษซากของพืชที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ และสามารถละลายได้ในน้ำได้ จนถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง อันที่จริงแล้วปุ๋ยคอกนับว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่นำเอามูลสัตว์ต่างๆเช่น วัว หมู ไก่ เป็ด กระบือ มาใช้ปรับปรุงสมบัติดินเพื่อส่งเสริมให้เกิดผลผลิตมากขึ้น

ทั้งนี้ปุ๋ยขี้วัวหรือมูลวัวนั้นจะมีสัดส่วนของของเหลว 1 ส่วนต่อของแข็ง 4 ส่วน โดยปุ๋ยขี้วัวนมจะประกอบด้วย ไนโตรเจน ร้อยละ 1.95 ฟอสฟอรัส ร้อยละ 1.76 และโพแทสเซียม ร้อยละ 1.43 ส่วนขี้วัวเนื้อจะประกอบด้วยไนโตรเจน ร้อยละ 1.25 ฟอสฟอรัส ร้อยละ 0.01 และโพแทสเซียม ร้อยละ 2.12 ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะช่วยในการส่งเสริมระบบรากให้แข็งแรงและเจริญได้อย่างรวดเร็ว และยังทำให้ลำต้นเติบโตได้ดีและสมบูรณ์อีกด้วย โดยมักจะนำปุ๋ยขี้วัวที่แห้งมาผสมในดินตารางเมตรละ 1-3 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันและปล่อยให้ซึมเข้ากันได้ดีอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนที่จะนำพืชมาลงแปลง ไม่ควรใช้มูลสดเพราะอาจทำให้ต้นพืชได้รับความร้อนมากเกินไปจนอาจเกิดโรคใบแห้งหรืออาจเฉาตายได้

ในการทำการปลูกพืชไร่ที่มีอายุของพืชหลายปีจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยขี้วัว ให้รักษาความชื้นได้ดี ทำให้ดินโปร่งยิ่งขึ้น เพิ่มจุลินทรีย์ดีในดิน เพื่อให้พืชมีความต้านทานต่อสภาพอากาศได้ดีและป้องการการชะล้างหน้าดิน และยังช่วยปรับสมบัติของดินในสภาพความเป็นกรดและเป็นด่าง นอกจากนั้นยังสามารถนำไปปรับสภาพ pH ในน้ำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจะนำมูลสัตว์ไปใช้เป็นปุ๋ยโดยตรงอาจจะต้องใช้ปริมาณที่สูงเพราะระดับ NKP ต่ำกว่ากลุ่มปุ๋ยเคมีมาก และยังกังวลเรื่องของความร้อนและแก๊สของมูลสัตว์ด้วย และปัญหาวัชพืชศัตรูพืชที่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในมูลวัว จึงต้องมีการนำไปสู่กระบวนการหมักราว 7-8 สัปดาห์เพื่อให้เกิดการย่อยสลายลงก่อน โดยขี้วัวสามารถนำมาหมักทำเป็นปุ๋ยน้ำหรือสารอาหารเสริมสำหรับพืชได้ เพราะมีธาตุอาหารที่ละลายน้ำได้ดี เมื่อหมักออกมาเป็นปุ๋ยน้ำและทำการรดหรือฉีดพ่นแก่พืชทั้งทางดินหรือทางใบ จะทำให้พืชดูดซึมธาตุอาหารไปใช้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook