สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปุ๋ยคอก ปัจจัยการผลิตของเกษตรอินทรีย์

ปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยที่ตอบโจทย์เพื่อนๆ เกษตรกรยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจเรื่องของเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น ได้ทั้งเรื่องของความปลอดภัยและยังประหยัดต้นทุนได้มากโขทีเดียวครับ เพราะปุ๋ยคอกนั้นเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารที่พืชต้องการ และเราสามารถหาได้ในธรรมชาติจากฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ ทั้งปุ๋ยจากมูลสุกร เป็ด-ไก่ วัวควาย ที่สามารถหาได้ในพื้นที่

ปุ๋ยคอกที่เราๆ ใช้กันอยู่มีอยู่ 2 แบบ คือปุ๋ยคอกแบบของแข็งและของเหลว ที่เรานำไปใช้แตกต่างกันไป อย่างปุ๋ยคอกที่เป็นของแข็งนั้น ก็คือมูลสัตว์แบบสดที่สามารถนำไปใช้ในเรือกสวนไร่นาได้เลย แต่ก็ต้องดูค่าดินและพืชในแปลงที่เราจะนำไปใช้นั้นเหมาะสมกับปุ๋ยไหม เพราะพืชบางชนิดเมื่อใส่ปุ๋ยคอกสดแบบนี้อาจจะเกิดอาการเหี่ยวหรือเฉาได้ ดินที่เหมาะกับการเติมปุ๋ยของแข็งโดยตรงจึงเป็นดินทรายในโซนอีสาน เพื่อนำไปเพิ่มโปแทสเซียมในดิน โดยสามารถนำปุ๋ยไปคลุกดินประมาณ 1-3 ตันต่อไร่ในช่วงทำการเตรียมดินเท่านั้น หากจะนำไปโรยเพิ่มในพืชที่ปลูกแล้ว ควรใช้เป็นปุ๋ยแบบตากแห้งมากกว่าครับ

ส่วนพื้นที่บางแปลงอาจจำเป็นต้องนำปุ๋ยคอกสดไปหมักก่อนที่จะนำมาใช้ เพื่อเปลี่ยนสภาพอินทรียวัตถุในมูลสัตว์ให้กลายเป็นสารฮิวมิกก่อน เป็นการลดความร้อนที่อาจทำลายพืชผลได้ วิธีการหมักก็เพียงแคค่นำมูลสัตว์ไปตากแดดเพื่อให้แห้ง แล้วแบ่งเป็นกองๆ ทำการกลับพลิกแต่ละกองทุก 3 วัน แล้วนำปุ๋ยคอกสดมาผสมแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ แบ่งส่วนหนึ่งเป็นหัวเชื้อ และนำส่วนที่เหลือไปเติมในดิน ก็จะได้หัวเชื้อปุ๋ยคอกหมักไว้ใช้คลุกกับปุ๋ยสดต่อไปครับ

ปุ๋ยคอกมีประโยชน์มากมาย เป็นทั้งแหล่งธาตุอาหารของพืชที่สามารถปลดปล่อยธาตุต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องกว่าปุ๋ยเคมี มีการกระตุ้นให้จุลินทรีย์ในดินทำงานเต็มที่ ช่วยเพิ่มการใช้ประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัสในดิน และยังช่วยปรับปรุงดิน ทำให้ดินโปร่ง ซึมซับน้ำได้ดี ทำให้ดินมีความชื้นมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เพื่อนๆ เกษตรกรควรจะต้องให้ความสนใจ ก็คือเรื่องของการเก็บรักษาปุ๋ยคอกเพื่อไม่ให้สูญเสียธาตุอาหารออกไป โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนซึ่งระเหยได้ง่าย ดังนั้นจึงควรเก็บปุ๋ยคอกไว้ในหลุมลึกที่มีความลึกประมาณ 1.5 เมตร และเป็นหลุมดินเหนียวหรือคอนกรีตเพื่อช่วยรักษาธาตุอาหารไม่ให้ระเหยหรือโดนชะล้างไปได้

ท้ายที่สุดก็ต้องฝากแนวคิดเรื่องการใช้ปุ๋ยคอกตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ต้องยึดถือหลัก 3 ประการคือ ความพอประมาณ คือใช้ปุ๋ยคอกที่เราสามารถผลิตเองได้ก่อนที่จะไปหาซื้อ ซึ่งเราควรจะเลี้ยงสัตว์เองจึงจะเหมาะสมที่สุด ประการถัดมาคือคือการเลือกใช้ปุ๋ยคอกแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับพืชผลและดินในแปลง และประการสุดท้ายคือการวางแผนการใช้ปุ๋ยคอกระยะยาวนั่นเองครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook