สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปูทะเล กับความนิยมในการบริโภคที่เพิ่มสูงมากขึ้น

ปูทะเล อาหารอันโอชะที่เป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่นับวันจะมีปริมาณลดน้อยถอยลง สวนทางกับความนิยมในการบริโภคที่เพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นการเลี้ยงปูทะเลทั้งเพื่อการเพิ่มจำนวนผลผลิตและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปูไปพร้อมกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเค็มชนิดอื่นบางรายหันมาเลี้ยงปูทะเลแทน เพราะมีตลาดกว้างแต่ผู้เลี้ยงยังมีไม่มากนัก ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีตามมาด้วย

ปูทะเลในบ้านเรานั้นแต่ละพื้นที่อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามลักษณะของรูปลักษณ์ภายนอกของปู เช่น ปูขาว ปูดำ ปูทองแดง เป็นต้น โดยพบได้ในธรรมชาติตามพบบริเวณแหล่งน้ำที่เป็นป่าชายเลนที่น้ำเค็มและน้ำจืดไหลมาบรรจบกันจึงเกิดเป็นน้ำกร่อย หรือบริเวณปากแม่น้ำที่ไปบรรจบทะเล ปูจะอาศัยอยู่บริเวณเนินดิน หาดโคลนเลน หรือโคนรากไม้ตามป่าโกงกางและป่าแสม บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งอันดามันและอ่าวไทย ชอบอพยพจากบริเวณน้ำกร่อยไปวางไข่ในทะเลหลังจากที่ผสมพันธุ์แล้ว เมื่อตัวอ่อนของปูเริ่มว่ายน้ำได้ก็จะว่ายน้ำกลับมาหากินในบริเวณน้ำกร่อย  ชอบออกจากที่อยู่ในตอนกลางคืนเพื่อหาอาหาร ได้แก่ ปู ปลา หอยขนาดเล็กและซากพืช

สำหรับการเลี้ยงปูทะเล นิยมเลี้ยงด้วยวิธีการขุนปูทะเล โดยนำปูทะเลที่มีน้ำหนักตัวราว 250 กรัม ที่มีเนื้อยังมีปริมาณน้ำมาก เนื้อไม่แน่น มาเลี้ยงกับปูเพศเมียที่มีไข่อ่อนมาเลี้ยงจนเนื้อแน่นและเพศเมียกลายเป็นแม่ปูไข่แก่ โดยหัวใจสำคัญคือทำเลในการเลี้ยง ซึ่งจะต้องพิจารณาเลือกทำเลที่มีน้ำกร่อย มีระดับความเข้มข้นของเกลือหรือความเค็มของน้ำประมาณ 10-30 ppt เป็นแหล่งที่มีพันธุ์ปูทะเลเพียงพอ น้ำทะเลไม่ท่วมและสามารถระบายน้ำได้ การขนส่งสะดวก สภาพดินที่สร้างบ่อต้องเป็นดินเหนียวเพื่อกักเก็บน้ำได้ มีพื้นที่ 200-600 ตารางเมตร

ขุดบ่อให้ลึกประมาณ 1.5 เมตร และขุดร่องรอบบ่อให้มีความกว้าง 1 เมตร ลึก 80 เซนติเมตร ทำประตูน้ำหรือทางระบายน้ำเข้าออกทางเดียว ใช้ตาข่ายกั้นคันบ่อโดยรอบให้มีความสูงจากคันบ่อ 0.5 เมตร เพื่อไม่ให้ปูหนีออกจากบ่อ กำจัดหญ้าวัชพืชในบ่อ โรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อและปรับสภาพบ่อ โดยใช้ปริมาณประมาณไร่ละ 60 กิโลกรัม ก่อนที่จะปล่อยน้ำเข้าบ่อให้มีระดับน้ำสูง 1 เมตร เลือกซื้อปูที่มีรยางค์สมบูรณ์ และมีก้าม 1 ก้ามขึ้นไปเพราะจะขายได้ราคาดี ปล่อยลงบ่อด้วยความหนาแน่นไม่เกิน 3 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารเป็นปลาเป็ดและหอยกะพงสดวันละหนึ่งครั้งช่วงเย็น และหมั่นเปลี้ยนน้ำทุกวัน ใช้เวลา 25-35 วันจะสามารถตักขึ้นมาขายได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook