สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปูนขาว ทั้งฆ่าเชื้อ ทั้งปรับดิน ของมันต้องมี

ปูนขาว ที่เราใช้กันอยู่โดยทั่วไปคือปูนผง เพื่อนเกษตรกรส่วนใหญ่นำมาใช้ในการปรับปรุงดินเปรี้ยว ให้ปรับค่าสถานะเป็นด่างมากขึ้น เรียกว่าปรับสภาพกรดนั่นเองครับ ยิ่งแปลงเกษตรที่ใช้สารเคมีมานานและปลูกพืชตัวเดียวซ้ำๆ ไม่มีการหมุนเวียนปลูกพืชอื่น จะทำให้ดินในบริเวณนั้นมีสถานะกรดสูง  ทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช เพราะขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสในดิน ทำให้พืชที่เราปลูกแคระแกร็น เราจึงต้องนำปูนขาวมาคลุกเคล้ากับดิน เพื่อให้ค่า pH ของดินให้เป็นกลาง มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืชได้มากขึ้น

นอกจากใส่ปูนขาวแล้ว การปรับปรุงดินควรต้องเพิ่มธาตุอาหารด้วยการเติมปุ๋ยอินทรีย์ไปในช่วงเตรียมดิน เพื่อให้ดินมีธาตุอาหารที่ดี ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งพวกเราที่มี อาชีพเกษตรกร ต่างนำปูนขาวและปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักมาปรับปรุงดินสำหรับการปลูกพืชแทบจะทุกชนิดอยู่แล้ว เรียกได้ว่า บ้านเกษตรกรส่วนใหญ่ ต้องมีปูนขาวติดบ้านกันเลยทีเดียวครับ

ปูนขาว ทั้งฆ่าเชื้อ ทั้งปรับดิน ของมันต้องมี

ไม่ใช่แค่ปรับปรุงดินในแปลงนะครับ การทำบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ก็ต้องนำปูนขาวมาโรยที่ก้นบ่อเพื่อปรับสภาพดินของบ่อ เพราะสถานะความเป็นกรดมากไปหรือด่างมากไป จะทำให้การมีชีวิตรอดของ กุ้งปลา น้อยลงได้ครับ คือปรับทั้งดินปรับทั้งน้ำกันเลย ปูนขาวที่รานิยมใช้กัน จะเป็นปูนขาวมาตรฐาน มอก.223-2520 ที่ใช้เพื่อการเกษตร ปรับเรื่องน้ำกระด้างได้ดีเลย

นอกจากปรับสภาพดินเสื่อมสภาพ  ปรับสภาพน้ำแล้ว เรายังนำปูนขาวมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ด้วยการนำผงปูนขาวไปโรยบนแปลงพืชผัก ภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรยในบ่อปลาและบ่อกุ้ง เพื่อกำจัดและยับยั้งเชื้อโรค ทั้งใช้ผสมน้ำฉีดพ่นลงบนลำต้นหรือใบ หรือราดรดลงบนโคนเพื่อให้ซึมสู่รากไม้ และยังนำปูนขาวมาเพิ่มความร่วนซุยและเพิ่มความโปร่งของดิน ทำให้รากของพืชสามารถดูดซับน้ำและปุ๋ยได้ดีขึ้น พืชก็เจริญเติบโตได้ดีขึ้น

หลักการปรับปรุงดินโดยการใช้ปูนขาวนั้น เราต้องคลุกปูนขาวในดินให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก  โดยใช้การไถดะและโรยผงปูนลงไปในทุกพื้นที่ ประมาณไร่ละ 1-2 ตันขึ้นอยู่กับค่ากรดว่าสูงมากขนาดไหน แล้วรดน้ำให้ชุ่มเพื่อหมักปูนไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อลดค่าความกรดลงได้ นอกจากปูนขาวแล้ว ในปัจจุบัน ยังมีปูนชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้ในวัตถุประสงค์เดียวกัน ได้แก่ ปูนโดโลไมต์ ปูนหรือดินมาร์ล และหินปูนบด

ปูนมาร์ล เหมาะสำหรับใช้ในแปลงนาและแปลงผัก ในพื้นที่ลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศ ส่วนไม้ผลในภาคใต้ ควรใช้หินปูนบดและปาล์ม ควรใส่ปูนโดโลไมต์เพื่อเพิ่มแมกนีเซียมแก่ต้นปาล์ม แต่หากต้องการให้เห็นผลไวเร่งด่วยสุด ก็คงต้องแนะนำให้ใช้ปูนขาวกันล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook