สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักกวางตุ้ง ปลูกได้ทั่วไทย

ผักกวางตุ้ง เป็นพืชใบเขียวที่สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบได้ทั้งในส่วนของใบ ลำต้น และยอดดอกกว้างตุ้ง ที่คุ้นตากันก็คือในชามบะหมี่เกี๊ยว โดยทั่วไปเราไม่นิยมทานเป็นผักสดมากนักเพราะเป็นผักที่มีความเหนียว จึงต้องนำมาทำให้สุกก่อนทาน ทั้งลวกจิ้มน้ำพริก ผัดผักกวางตุ้งใส่หมูหรือกุ้ง หรือราดหน้าผักกวางตุ้งก็มีนะครับ

ผักกวางตุ้งนั้น มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเราหลายชนิดมาก ทั้งวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา แคลเซียมที่เสริมสร้างกระดูกและฟัน วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ดังนั้นเวลานำไปปรุงอาหารควรตั้งไฟสั้นๆ เพื่อเป็นการรักษาวิตามินและแร่ธาตุไม่ให้สลายไปจากความร้อน ก่อนการนำมาปรุงเราก็ต้องทำการแช่น้ำเกลือหรือน้ำส้มสายชูเพื่อกำจัดยาฆ่าแมลง และล้างด้วยน้ำอีกหลายๆ รอบนะครับ เพราะผักใบเขียวส่วนใหญ่มีการใช้สารเคมีกันมาก

ผักชนิดนี้เราสามารถปลูกได้ตลอดครับ ไม่ว่าจะช่วงฤดูไหน และยังสามารถปลูกได้ในดินทุกแบบ ขอเพียงมีน้ำในดินเพียงพอไม่ถึงกับขังแฉะ พื้นที่ปลูกรับแสงทั้งวัน โดยเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่คุณภาพดี เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ทนต่อโรค แล้วนำเมล็ดพันธุ์ 1 ถังผสมกับทรายที่ล้างสะอาดแล้วจำนวน 3 ถัง การปลูกก็เลือกได้ว่าจะปลูกแบบหว่านหรือโรยเมล็ดเป็นแถว

การปลูกผักกวางตุ้งแบบหว่าน ก็ทำง่ายๆ โดยการาโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์ให้ทั่วแปลงปลูก แล้วใช้ปุ๋ยคอกกลบทับ คลุมด้วยฟางอีกชั้นหนึ่ง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ครบ 3 สัปดาห์จึงถอนต้นกล้าออกเพื่อเว้นระยะห่างประมาณ 10 นิ้ว ส่วนการปลูกแบบโรยเมล็ด ให้โรยเมล็ดเป็นแถวตามแปลง เททับด้วยปุ๋ย และนำฟางแห้งมาคลุมทับก่อนให้น้ำให้ชุ่ม และเมื่อครบ 3 สัปดาห์ก็ทำการจัดระยะห่างเช่นกัน

การบำรุงต้นกวางตุ้งนั้น ควรรดน้ำวันละ 3 ครั้ง เติมปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 จำนวนไร่ละ 30 กิโลกรัม แล้วรดน้ำตามทันทีให้ปุ๋ยละลายซึมลงดินให้หมด หลังจากปลูกเพียง เดือนครึ่งเราก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วครับ

การดูแลผักกวางตุ้งนี้จะต้องให้ความใส่ใจเรื่องของแมลงศัตรูพืชอย่างมาก โดยจะต้องฉีดพ่นสารกำจัดแมลงตั้งแต่ต้นกล้าเริ่มงอกได้ 2-3 วัน แล้วพอครบ 10 วันก็ต้องเริ่มถอนหญ้าวัชพืชและสังเกตต้นที่ไม่แข็งแรงแล้วดึงออก เพื่อไม่ให้ไปแย่งธาตุอาหารในดินของต้นที่พร้อมโต

โรคพืชที่พบได้ในผักกวางตุ้งมากที่สุดคือโรคเน่าคอดิน เนื่องจากแสงส่องไม่ถึงโคนต้น เพราะเว้นระยะหว่านไม่เหมาะสม และน้ำขัง ดังนั้นต้องหว่านเมล็ดให้กระจายตัวไม่ให้กระจุกตัวแน่นเกินไปและระวังไม่ให้เกิดน้ำขัง หากดูแลกันดีๆ เราก็สามารถเก็บผลผลิตได้ 800 ถุงต่อไร่เลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook