สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักเสี้ยน เป็นอาหารก็ได้ เป็นสมุนไพรก็ดี

ผักเสี้ยน ไม่ว่าจะเป็นผักเสี้ยนไทย ที่เราอาจเรียกกันว่าผักส้มเสี้ยน ผักเสี้ยนขาว เราจะนำมารับประทานเป็นอาหาร หรือจะเป็นผักเสี้ยนผี ที่แพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทยจะนำมาปรุงยา ซึ่งจัดเป็นสมุนไพรที่หาง่าย โดยผักเสี้ยนทั้ง 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงเลือดลมและสายตา แก้ปัญหาท้องผูก คลายเส้น คลายกล้ามเนื้อ อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และจุลินทรีย์ จึงนับว่าเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจอย่างมากครับ

ต้นผักเสี้ยน เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีระบบรากแก้วและรากแขนงแผ่เยอะ ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุมไปด้วยขนอ่อน มีความสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร พบได้ตามหัวไร่ปลายนาทั่วไป แม้จะเป็นพืชที่มีสรรพคุณสูงแต่มักไม่นิยมรับประทานสดๆ เพราะใบผักเสี้ยนมีสารออกฤทธิ์ต่อประสาทเมื่อรับประทานดิบ และยังมีกลิ่นแรง จึงต้องนำมาดองเปรี้ยวเพื่อลดกลิ่นฉุนออก และที่สำคัญคือการดองจะทำให้เราสามารถรักษาวิตามินซีและเกลือแร่ต่างๆให้คงอยู่ ทำให้เราสามารถนำคุณค่าทางโภชนาการของผักเสี้ยนมาใช้ประโยชน์ในการบำรุงร่างกายเราได้เต็มที่ มากกว่าการนำไปทำให้สุกครับ จึงกลายเป็น “กิมจิอีสาน” ที่ได้รับความนิยมนำไปรับประทานคู่กับน้ำพริก แจ่ว บอง เพิ่มรสชาติเปรี้ยวมันให้แก่อาหาร หรือหากจะนำใบสดไปลวกเพื่อจิ้มกับน้ำพริกก็ได้ความอร่อยไม่แพ้กันครับ

การปลูกผักเสี้ยนนั้นเรามักจะปลูกกัน 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงต้นพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูหนาว และช่วงเดือนพฤษภาคม ที่เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ดีในการปลูกผักชนิดนี้ โดยให้เลือกปลูกในดินร่วนปนทราย ที่มีอินทรียวัตถุสูง ก่อนทำการปลูกให้เตรียมแปลงดินที่มีความกว้างประมาณ 80-100 เซนติเมตร ตากดินฆ่าเชื้อโรคไว้ประมาณ 10 วัน แล้วจึงนำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกมาคลุกเคล้ากับดินที่ตรียมไว้ แล้วปรับหน้าดินให้เรียบ ก่อนที่จะนำเมล็ดผักเสี้ยนมาโรย ให้มีความห่างระหว่างแถวประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วรดน้ำสม่ำเสมอวันละ 1-2 ครั้ง ใช้เวลาไม่เกิน 5 วันเราก็จะเห็นผักเสี้ยนเริ่มงอก หลังจากนั้นประมาณ 15-20 วันเราก็สามารถเก็บเกี่ยวผักเสี้ยนมาดองเปรี้ยวกันได้แล้วครับ โดยวิธีการเก็บเกี่ยวนั้น ให้เราเด็ดยอดใบอ่อน เพื่อให้ต้นพืชแตกยอดใหม่ได้เสมอ

กระบวนการการดองผักเสี้ยนนั้นให้เริ่มจากการนำยอดผักไปผึ่งแดด ให้ยอดอ่อนเหี่ยว แล้วจึงนำมาล้างน้ำ หั่นเป็นท่อนพอประมาณ แล้วนำมาขยำเบาๆ กับเกลือและน้ำพอขลุกขลิก เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นของตัวผักออก แล้วตากแดดให้สะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำไปแช่ในน้ำซาวข้าวผสมเกลือและน้ำตาลโตนด ให้มีรสชาติหวานเค็ม แล้วแช่หมักทิ้งไว้ ประมาณ 4 คืน ผักเสี้ยนดองก็จะมีรสชาติเปรี้ยว เค็ม หวาน กำลังดี สามารถนำไปรับประทานได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook