สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักเหลียง ผักใบจากป่า ถูกปากคนเมือง

ผักเหลียงหรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่าใบเหลียง หรือผักเหมียง เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงราว 4 เมตร เป็นพืชที่งอกและเติบโตตามธรรมชาติในป่าของประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิอากาศร้อน และยังไม่มีรายงานถึงพืชชนิดนี้ในประเทศฝั่งตะวันตก ในประเทศไทยเรานั้นจะพบต้นผักเหลียงในบริเวณจังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ เรื่อยไปจนถึงจังหวัดตรัง ใบเหลียงมีสีเขียวอ่อนหากอยู่ในที่ร่ม ใต้ต้นไม้สูงที่มีร่มเงาหนาแน่น แต่หากโดนแสงแดดจัดและยาวนานใบจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ยอดไม่เติบโต ส่วนของใบเหลียงเป็นนิยมนำมาประกอบอาหารในท้องถิ่น และได้รับการยอมรับขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เมนูที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือใบเหลียงผัดไข่ จนทำให้เกิดความต้องการของตลาดสูงขึ้น

ลักษณะลำต้นผักเหลียงมีสีน้ำตาลแก่ เนื้อไม้เปราะ แตกกิ่งเป็นปล้อง และแยกออกเป็นแขนงสีเขียวอ่อนจำนวนมากโดยมีไหลผลิแยกออกมา กลายเป็นพุ่มใบที่แน่นครึ้ม ใบมีรูปทรงไม่แตกต่างจากใบยางพารานัก ขนาดใบกว้างเท่าฝ่ามือ เนื้อใบบาง เมื่อนำมาทานเป็นใบสดจะมีความกรอบ มัน รสชาติดี แต่เมื่อนำมาประกอบอาหารด้วยความร้อนจะมีความนุ่ม เคี้ยวง่าย ผักเหลียงเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างการและยังสามารถนำส่วนต่างๆ มาผลิตเป็นสมุนไพร เช่น น้ำจากเปลือกต้น สามารถนำมาผสมกับน้ำสะอาดเพื่อใช้พอกหน้า ลดจุดด่างดำบนใบหน้าได้ เป็นต้น

ผักเหลียงจะเจริญเติบโตได้ดีตามที่ราบเนินเขา ที่มีดินโปร่งร่วน อุดมด้วยอินทรียวัตถุ มีปริมาณน้ำฝนเยอะ แม้ว่าปัจจุบันต้นผักเหลียงในป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติจะมีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่ยังมีเพื่อนๆ เกษตรกรบางกลุ่มได้นำพืชชนิดนี้มาปลูกและขยายพันธุ์ไว้เป็นพืชแซมในสวนยางพาราและสวนผลไม้ต่างๆ เพื่อใช้คลุมดินและยึดหน้าดิน และเมื่อตลาดเริ่มมีการตอบรับดีขึ้นจึงมีการพัฒนาปลูกเป็นการค้ามากขึ้น

ใบเหลียงนั้นเมื่อปลูกแล้วสามารถเก็บใบเพื่อนำไปขายได้ยาวนาน ให้ใบหนาแน่น ไม่มีแมลงศัตรูพืชให้เราต้องกังวล ดังนั้นจึงเป็นผักปลอดสารพิษ ที่เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีและไม่ต้องใส่ปุ๋ย ที่สำคัญคือให้ผลผลิตต่อเนื่อง ใช้เวลาเพียง 2 ปีหลังจากที่เราปลูก ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง โดยต้องทิ้งช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งประมาณ 25-30 วัน หรือเพื่อนๆ เกษตรกรที่ไม่อยากรอเวลานานถึง 2 ปี อาจจะลองปลูกต้นพันธุ์ผักเหลียงขายก็ได้ครับ ยังมีตลาดต้องการอีกจำนวนมากเช่นกันครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook