สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักแปม สมุนไพรโสมปรับสมดุล

ผักแปม ผักที่หลายคนแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อ แต่หากวันใดได้รู้จักแล้วอาจจะต้องตามล่าหามาปลูก ทั้งนี้ผักชนิดนี้จัดเป็นกลุ่ม “ผักกับลาบ” คือผักที่สดพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานเคียงกับเมนูลาบเหนือที่มีรสชาติเข้มข้นและกลิ่นที่ฉุนของ “มะแขว่น”และเครื่องเทศต่างๆ ดังนั้นจึงมักเลือกใช้ผักที่มีความฉุนและความแรงของรสชาติเพื่อให้เข้ากันได้ดีกับรสเผ็ดร้อนของลาบเหนือ เช่น ผักแปม ผักคาวตอง ใบเล็บครุฑ และยังนำใบอ่อนใบเป็นส่วนประกอบในการทำแกงอ่อมนับเป็นหนึ่งในแนวทางการรับประทานอาหารเป็นยาตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีกันในทุกภาคของประเทศไทยเรา แต่อาจจะใช้ผักที่ต่างกันไปตามสภาพแต่ละท้องที่ โดยที่คนแก่ทางภาคเหนือมักจะนำผักชนิดนี้มาปลูกไว้เพื่อเป็นยาในการรักษาโรคบางชนิด

ผักแปม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acanthopanax trifoliatus เป็นสมุนไพรวงศ์เดียวกันกับโสม ที่แพทย์พื้นบ้านในอดีตมักจะนำเปลือกไม้ที่ได้นำมาต้มในน้ำสะอาด หรือจะนำเปลือกไม้ไปย่างไฟแล้วแช่ในสุราเพื่อใช้เป็นยาเจริญอาหาร แก้โรคประสาท บรรเทาอาการปวดกระดูกและปวดหลัง ลดน้ำตาลในเลือด ใบอ่อนจะมีรสชาติขมเฝื่อน นำมาใช้บำรุงปอดและบำรุงกำลัง นอกจากจะพบการนำมาใช้ประโยชน์ในไทยเราแล้ว ยังพบได้ในประเทศจีนตอนกลางและตอนใต้ เนปาล อินเดีย เมียนมาร์ ไต้หวัน และเวียดนามอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงเรื่องสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในการปรับสมดุล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แต่ที่ได้รับความสนใจกันอย่างมากคือกลุ่มของโสม ไม่ว่าจะเป็นโสมอเมริกัน โสมเกาหลี และโสมไซบีเรีย แต่ก็นับว่าอยู่ไกลตัวคนไทยเรา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือยังมีสมุนไพรอื่นๆ เช่น มะขามป้อม รากชะอมเทศ รากปัญจขันธ์ และผักแปม ที่มีสรรพคุณในการปรับสมดุลได้ดี โดยในผักแปมนั้นพบว่าอุดมไปด้วยสารกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์

ลักษณะของต้นผักแปมนั้น จะมีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร มีกิ่งก้านสีเขียว บริเวณลำต้นจะมีหนามปกคลุมทั่ว ใบมีลักษณะยาวเป็นทรงรีรูปไข่ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบอ่อนนุ่ม โคนใบเว้น ปลายใบแหลม แต่ละก้านใบจะประกอบไปด้วยใบย่อยจำนวน 5 ใบ สามารถมองเห็นเส้นใบทั้งบนแผ่นใบและใต้ใบได้อย่างชัดเจน แตกดอกบริเวณปลายกิ่งเป็นช่อแบบกระจุก ให้ผลเป็นลูกกลมแบนๆ ขนาดความยาวราว 4 เซนติเมตร นิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ บริเวณดินร่วนซุยใกล้แหล่งน้ำ ที่มีแสงแดดส่องถึง เจริญเติบโตเร็ว จึงนับว่าเป็นพืชสมุนไพรที่น่าปลูกไว้ใช้ประโยชน์ยิ่งนัก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook