สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผึ้ง ธุรกิจที่ต้องเตรียมการสูง

ผึ้งเป็นแมลงเศรษฐกิจ ที่มนุษย์เราได้นำมาใช้ประโยชน์ไหลายด้านมาก โดยมีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์นับพันฟาร์มในประเทศไทยเรา แม้ว่าจะมีการนำพันธุ์มาจากฝั่งประเทศยุโรปแต่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในไทยได้อย่างดี เป็นผึ้งที่ไม่ทิ้งรัง ไม่มีนิสัยดุร้าย และให้ผลผลิตสูง ทั้งส่วนของน้ำผึ้ง เกสรผึ้ง นมผึ้งและขี้ผึ้ง โดยปัจจุบันเราสามารถส่งออกผลิตผลจากผึ้งไปยังต่างประเทศได้ด้วย

น้ำผึ้งถือว่าเป็นผลผลิตจากผึ้งที่เรารู้จักกันแพร่หลาย ซึ่งเป็นน้ำหวานที่ผ่านการย่อยของผึ้งแล้วคายออกมาไว้ในรังผึ้ง โดยน้ำหวานเหล่านั้นมักจะได้มาจาก เกสรดอกลำไย ดอกลิ้นจี่ ดอกสาบเสือ ดอกนุ่น ดอกงา ดอกเงาะ ดอกยางพารา เป็นต้น มีความหนืดเหนียว เมื่อเก็บไว้นานจะทำให้สีแก่ขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้ำผึ้งที่ได้จากเกสรดอกชนิดไหน คนไทเรานิยมนำมาดื่มกินสดๆ หรือผสมน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้ดื่ม และยังนำไปเข้าตำรับกับยาแผนไทยบางตำรับอีกด้วย

แม้ว่าการเลี้ยงผึ้งจะมีโอกาสทางการตลาดรองรับสูง แต่สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรมือใหม่ที่สนใจจะลงมือทำจริงจังนั้น จะต้องวางแผนอย่างเต็มที่ โดยควรจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องชีวิตและนิสัยของผึ้ง ต้องเข้าใจวงจรชีวิตของผึ้งอย่างแท้จริง รู้เรื่องแหล่งอาหารสำคัญของผึ้งว่ามีอยู่ที่พันธุ์ไม้ชนิดไหน มีช่วงเวลาที่จะนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารช่วงไหน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงผึ้งทั้งสิ้น

การบริหารจัดการฟาร์มผึ้ง จะต้องมีเรื่องของเงินทุน เพราะต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่าง รวมไปถึงเรื่องของพันธุ์ผึ้ง โดยเราสามารถเริ่มเลี้ยงจากจำนวนน้อยๆ ประมาณ 5 รัง รังละไม่เกิน 10 คอน สิ่งที่เราจะต้องเตรียมในช่วงเริ่มต้นคือ อุปกรณ์ที่สำคัญต่างๆ เช่น กล่องเลี้ยงผึ้ง คอน รังผึ้งเทียม หมวกตาข่ายกันผึ้งต่อย ไม้งัดรัง อุปกรณ์พ่นควัน และพันธุ์ผึ้งที่เราจะต้องเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วน ควรแวะเยี่ยมชมฟาร์มผึ้งหลายๆฟาร์ม เพื่อสังเกตดูสุขภาพผึ้ง ความเจริญเติบโตของผึ้ง อารมณ์ของผึ้ง และควรดูที่คอนผึ้งว่ามีการวางไข่เป็นวงกว้างเต็มคอนหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องเลือกซื้อรังผึ้งนางพญาสาวที่สมบูรณ์นะครับ

การเลี้ยงผึ้งนั้นมีกระบวนการบริหารจัดการในแต่ละช่วงแตกต่างกันไป ทั้งก่อนฤดูดอกไม้บาน ในฤดูดอกไม้บาน และหลังฤดูดอกไม้ รวมไปถึงโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดกับผึ้งได้ทั้ง โรคในระยะตัวเต็มวัย อย่างโรคโนซีมา หรือโรคในระยะตัวอ่อน อย่างหนอนเน่าอเมริกา เป็นต้น และยังมีแมลงศัตรูผึ้งประเภทไรต่างๆ ที่เราต้องป้องกันและกำจัดอย่างทันท่วงที และมีการจัดการรังอย่างเหมาะสม

การเลี้ยงผึ้งนั้น เราจะต้องมีการเปลี่ยนนางพญาผึ้งเพื่อให้เพิ่มผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี และมีการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP ไม่มีการปนเปื้อนของวัตถุมีพิษ และมีการจัดการผลผลิตอย่างเหมาะสม จึงจะกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook