สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ฝาง แก่นไม้ให้สีและสมุนไพรชั้นเยี่ยม

ฝาง เป็นสมุนไพรที่คนรุ่นใหม่น้อยคนจะรู้จักกันนัก แต่หากเอ่ยถึงน้ำยาอุทัยทิพย์ขึ้นมาแล้ว ทุกคนน่าจะพอนึกถึงสีแดงของตัวน้ำยาได้ดี แค่หยดลงน้ำ 1 หยด ก็ได้ความหอมเย็นและน้ำสะอาดที่เราใช้ดื่มก็กลายเป็นสีชมพูสวยงาม ซึ่งได้นำฝางมาเป็นส่วนผสมครับ

ฝางนั้นมีแก่นด้านในที่แตกต่างกันชนิด คือ ฝางเสนจะมีแก่ฟางเป็นสีแดงเข้ม ส่วนฝางส้มนั้นจะมีแก่นฝางออกสีเหลืองเข้ม ในยุคสมัยโบราณเขานำแก่นฝางมาใช้เป็นสีธรรมชาติในการผสมอาหารให้ออกเป็นสีชมพูเข้มชวนทาน แต่ปัจจุบันนอกจานำมาผลิตน้ำยาอุทัยทิพย์แล้ว เราก็ยังนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรได้หลายประเภท เช่น ผสมกับน้ำใบเตยได้รสชาติถูกใจ กลายเป็นน้ำดื่มสมุนไพรไทยแท้เต็มรูปแบบเลยครับ

สมุนไพรฝาง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก  สูงไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นเต็มไปด้วยหนาม ผลฝางมีลักษณะแบน เปลือกฝักแข็ง รูปทรงฝักเป็นสี่เหลี่ยมแปลกตา สีน้ำตาลดำ ในด้านสรรพคุณทางยานั้น แก่นฝางเป็นสมุนไพรที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาอาการอักเสบ มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด และยับยั้งการสะสมไขมันในหลอดเลือด ต้านอนุมูลอิสระ โดยสารต้านอนุมูลอิสระนี้จะมีเพิ่มสูงขึ้นตามอายุความแก่ของแก่นฝาง

ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาใช้เพื่อการบริโภค ทั้งนำมาทำยา อาหาร เครื่องดื่ม เนื่องจากมีสรรพคุณในการรักษาสุขภาพ และสมุนไพรพื้นบ้านของไทยเราเองก็มีราคาไม่แพง หาได้ง่าย และวิธีแปรรูปที่ง่ายที่สุดก็คือการนำสมุนไพรต่างๆ มาตากแห้ง ผลิตเป็นชาสมุนไพร และฝางก็เป็น 1 ในสมุนไพรไทยที่ถูกนำมาผลิตเป็นชาฝาง โดยนำไม้ฝางมาผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบ 12 ชั่วโมง เพื่อลดปริมาณความชื้นในเนื้อไม้ฝางให้เหลือน้อยกว่า 10% แล้วนำมาชงดื่มเพื่อต้านอนุมูลอิสระ

ส่วนการนำแก่นฝางไปใช้ประโยชน์ในการย้อมสีนั้น กลับพบว่าชาวต่างชาติให้ความสนใจกับสิ่งทอที่มีสีจากธรรมชาติมากขึ้น เพราะมีความกังวลในเรื่องผลเสียของการใช้สีสังเคราะห์ จึงนิยมใช้ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดกระแสการย้อมสีฝ้ายและไหมด้วยสีธรรมชาติจากแก่นฝาง เช่นในภาคเหนือและภาคอีสานจะย้อมสีผ้าเป็นสีชมพูหรือแดงด้วยแก่นฝาง ซึ่งต้องใช้ความชำนาญของผู้ย้อมเป็นอย่างมากเลยครับ ถึงจะสามารถควบคุมเฉดสีที่ได้จากแก่นฝางตามต้องการ

การที่เราหันมาใช้สมุนไพรในชีวิตมากขึ้น เป็นการหันมาพึ่งพาตัวเอง ส่งผลกระทบที่ดีแก่ชุมชน และทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้รู้รู้จักคุณค่าของธรรมชาติ ช่วยกันปลูกต้นไม้ใบหญ้ามากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดีเลยนะครับ เผยแพร่ความรู้เรื่องฝางไปให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้รู้จักกันนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook