สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

พริกชี้ฟ้า เครื่องเทศมากสรรพคุณ

พริกชี้ฟ้า พันธุ์พริกที่เป็นที่รู้จักกันดี จัดเป็นพืชที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อให้ความเผ็ดและกระตุ้นให้เจริญอาหารและแต่งแต้มให้อาหารดูน่ารับประทาน ข้อเด่นของพริกชี้ฟ้าคือเผ็ดไม่มากเท่าพริกขี้หนู แต่ยังมีความเผ็ดอยู่บ้าง แตกต่างจากพริกหวานหรือพริกหยวกที่ไม่มีความเผ็ดเลย พริกชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดในแถบตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้ามาในประเทศไทยเรามาช้านานแล้ว จนแทบจะกลายเป็นพันธุ์พืชประจำถิ่นของไทย

พริกเป็นไม้ล้มลุก พบได้ในประเทศเขตร้อนทั่วโลก มีอายุหลายปี มีความสูงของลำต้น 50-150 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยวลักษณะใบยาวแคบ ปลายใบคล้ายหอก ผิวใบสีเขียวเข้ม ให้ดอกเดี่ยวทรงกรวยสีขาว ให้ผลพริกที่มีความยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร ทรงกรวยปลายโค้งงอน สีของผลพริกมีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดงเมื่อสุก ภายในผลพริกมีเมล็ดสีครีมลักษณะแบนเรียงตัวอยู่ตรงกลางผลจำนวนมาก

คนไทยเรานิยมนำพริกชี้ฟ้ามาปรุงอาหารทั้งเป็นเครื่องเทศในการตำน้ำพริกต่างๆ และใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารเมนูต่างๆ เมนูผัดพริกสด พริกชี้ฟ้ายัดไส้ หรือจะนำมาประดับโรยหน้าเมนูต่างๆ เพิ่มทั้งสีสัน รสชาติและความหอม เพราะไม่เพียงแค่ชูรสชูกลิ่น แต่พริกชี้ฟ้ายังมีสรรพคุณในการกระตุ้นการไหลเวียนของระบบโลหิต บรรเทาอาการเส้นยึด ลดนำมูก แก้ไข้ ขับของเสียในร่างกายทั้งทางเหงื่อและทางปัสสาวะ มีฤทธิ์ระบายท้อง และยังมีวิตามินที่หลากหลายอีกด้วย

พริกชี้ฟ้าพันธุ์ที่นิยมปลูกกันเชิงการค้า ได้แก่ พันธุ์บางช้าง พันธุ์สันทราย 1 และพันธุ์หยกขาว และยังมีการพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างมากมาย วิธีการเตรียมแปลงปลูกก็ไม่ต่างจากพืชผลอื่นๆ คือเริ่มจากการไถกลับดินเพื่อตากฆ่าเชื้อไว้ราว 2-3สัปดาห์ และไถพรวนอีกครั้งเพื่อกำจัดวัชพืช ผสมปูนขาวตามสมบัติดินและตากไว้อีก 2-3 สัปดาห์ สำหรับการเตรียมเมล็ดพันธุ์ให้แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำที่ผสมน้ำยาเร่งงอกไว้ประมาณ 8 ชั่วโมง ห่อด้วยผ้าเพื่อคงความชื้นไว้ 48 ชั่วโมง นำเมล็ดที่ดังกล่าวลงเพาะในวัสดุเพาะ และกลบด้วยวัสดุบางๆ หลังจากนั้นอีก 2สัปดาห์จึงย้ายกล้าได้

การปลูกพริกชี้ฟ้านั้นไม่ควรปลูกต่ำกว่าหน้าดิน เพราะจะให้เกิดโรครากเน่าได้ง่าย และไม่ควรกลบดินสูงเพราะต้นอาจล้ม โดยเฉพาะในช่วงแรกควรทำไม้หลักยึดต้นกล้าไว้กันล้ม การให้น้ำควรให้ทุกวัน ถ้าช่วงฝนอาจเว้นระยะได้ ส่วนสำคัญอีกอย่างคือการกำจัดหญ้าวัชพืชโดยใช้แรงงานถอนหรือใช้เสียมหรือจอบถากแทนการใช้สารเคมีทุก 2 สัปดาห์เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่ ประมาณ 2-3 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook