สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

พลาสติกคลุมดิน ใช้ในการคลุมแปลงผัก และพืชผลต่าง ๆ

พลาสติกคลุมดิน เป็นหนึ่งในวัสดุคลุมดินนอกเหนือจาก ฟาง หญ้าแห้ง เปลือกถั่ว แกลบและขี้เลื่อย โดยแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้มากกว่า 60 ปี โดยมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นำมาใช้ในการคลุมแปลงผักและพืชผลต่างๆ รวมถึงแปลงปลูกสตรอว์เบอรี่  ข้อดีของการใช้พลาสติกคลุมดินนั้น คือ ช่วยเร่งให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้น เช่น มะเขือเทศ เพราะการคลุมดินจะทำให้อุณหภูมิในแปลงสูงขึ้น ทำให้มะเขือเทศให้ผลผลิตเร็วขึ้นประมาณ 14-21 วัน และยังเป็นการลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น เพราะการคลุมดินนั้นจะช่วยลดความแตกต่างของอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์บนดินกับอากาศลงได้ ลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ ป้องกันการชะล้างปุ๋ย ลดการเกิดของวัชพืช ป้องกันไม่ให้ฝนตกกระทบดินโดยตรง ทำให้ดินยังคงรักษาความร่วนซุยไว้ได้ดี เพราะไม่ถูกอัดตัวจากน้ำฝน ช่วยกักเก็บก๊าซใต้ดินไม่ให้ระเหยออกมา และลดการท่วมขังของน้ำได้ด้วย

พลาสติกคลุมดิน เป็นวัสดุทางการเกษตรที่เรานำมาใช้กันโดยทั่วไป เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งาน สำหรับวัสดุที่ได้รับความนิยมมากที่สุดปัจจุบันคือ PE โดยมีความหนาแน่นแตกต่างกันไป คือ ความหนาแน่นต่ำ (LDPE), ความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) และความหนาแน่นสูง (HDPE) ตามรูปแบบการใช้งาน พลาสติกเหล่านี้เป็นพลาสติกที่มีราคาไม่แพง นำมาใช้งานได้ง่าย พลาสติกที่นำมาคลุมดินนั้น หากเป็นสีดำจะทำให้แสงไม่ส่องผ่านไปถึงดิน แต่มีข้อดีคือไม่เกิดวัชพืชในแปลง ส่วนพลาสติกใสจะไม่สามารถป้องกันวัชพืชได้แต่ให้แสงส่องผ่านไปยังผิวดินได้ ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาพลาสติกประเภทไวแสงขึ้นมาเพื่อกำจัดข้อด้อยของพลาสติกใสและพลาสติกดำออกไป ทำให้แสงส่องลงดินและป้องกันวัชพืชเติบโตได้ด้วย อย่างไรก็ตามพลาสติกประเภท PE มีข้อเสียคือย่อยสลายยาก หากมีหลงเหลือไว้ในแปลงปลูกอาจเกิดปัญหาเรื่องการปนเปื้อนต่อดินและพืชได้ ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาพลาสติกคลุมดินที่สามารถย่อยสลายได้เองเมื่อเราไถกลบโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดพลาสติกที่ไม่ใช้งานแล้วลงได้อีกด้วย

หากเรามีงบประมาณจำกัดและให้ความสำคัญเรื่องการปบเปื้อนที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะหันมาเลือกใช้ฟางเป็นวัสดุคลุมดินแทนพลาสติก เพราะเป็นวัสดุที่ได้มาจากเศษเหลือในนา แต่อย่าลืมที่จะตรวจสอบเรื่องเชื้อวัชพืชที่อาจจะเจือปนมาในฟางหรือตากฟางไว้ทิ้งไว้กลางแดดเพื่อกำจัดวัชพืชที่ติดมาออกก่อนด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook