สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาพันธุ์ข้าวรูปลักษณ์ใหม่ผลผลิตสูง และคุณภาพดี

ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตคนไทยและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ข้าวเป็นพืชที่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ ถึงแม้ประเทศไทยจะผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศและสามารถส่งออกเป็นสินค้าหลักได้ แต่ยังพบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ค่อนข้างน้อย สาเหตุสำคัญคือ พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนและใช้พันธุ์ปลูกชนิดไวต่อช่วงแสงที่มีลักษณะทรงต้นแบบพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ผลผลิตต่ำ มีพื้นที่การทำนาในเขตชลประทานน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่การทำนาทั้งหมดที่ปลูกข้าวพันธุ์ปรับปรุงที่ให้ผลผลิตสูง พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง สามารถผลิตข้าวได้เป็นปริมาณถึงหนึ่งในสามของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมดในแต่ละปี

ข้าวพันธุ์รับรองที่นิยมปลูกในพื้นที่นาชลประทานในปัจจุบัน ได้แก่ ชัยนาท 1 พิษณุโลก 2 ปทุมธานี 1 กข41 และ กข47 เป็นต้น ทั้งนี้ ข้าวพันธุ์ดีส่วนใหญ่ยังขาดลักษณะทางสัณฐานวิทยาบางประการที่จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงลักษณะทรงต้นที่สนับสนุนการให้ผลผลิตสูง ซึ่งเป็นลักษณะทรงต้นรูปลักษณ์ใหม่ (New Plant Type) ซึ่งออกแบบโดยนักวิจัยของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (Peng et.al., 1994) คือ มีลำต้นแข็งไม่หักล้มง่าย ใบสีเขียวเข้มตั้งตรง สูงประมาณ 110-120 เซนติเมตร ใบธงตั้งตรง ไม่มีต้นที่ไม่ให้รวง รวงขนาดใหญ่ จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 200-250 เมล็ด มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ไม่เพียงแต่มีรูปลักษณ์ใหม่แต่ยังมีศักยภาพในการให้ผลผลิตมากขึ้นด้วย หรือสูงกว่าพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าข้าวไทยในตลาดโลก

กรมการข้าวได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวต่อพื้นที่โดยการใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต จากการปรับปรุงพันธุ์ของกรมการข้าวทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดีที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงหลายสายพันธุ์ เช่น CNT08008-12-1-1-1, PSL12016-CNT-8-3-3-1-2, CNT08007- 45-2-3-1 และ PSL10004-94-1-1-1-1-1 มีลักษณะเป็นข้าวทรงต้นรูปลักษณ์ใหม่ คือ ต้นแข็งไม่หักล้มง่าย แตกกอน้อย สูงประมาณ 100 เซนติเมตร ใบธงตั้งตรง เมล็ดต่อรวงมาก แต่คุณภาพผลผลิตยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น สายพันธุ์ PSL09054-CNT-29-1-2-1-1-3-1-1-1-1-3-4-1 มีรวงขนาดใหญ่ จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก แต่มีเมล็ดลีบจำนวนมาก

ในปี 2558-2560 กรมการข้าวโดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงจากการผสมระหว่างพันธุ์ข้าวภายในกลุ่มอินดิกาและระหว่างอินดิกากับจาปอนิกา จนได้สายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงหลายสายพันธุ์ เช่น Bio2010-7-1-11-3-1-1-7-KLG-1-2 และ Bio2010-17-1-8-6-1-2-KLG- 2-1 อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีมีการพัฒนาพันธุ์ต่อเนื่องในการศึกษาด้านการจัดการธาตุอาหาร และช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นตามศักยภาพของสายพันธุ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงมีความเป็นไปได้ เพื่อยกระดับผลผลิตข้าวของประเทศรวมทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้

สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวรูปลักษณ์ใหม่ผลผลิตสูง และคุณภาพดี” แก่คณะผู้วิจัยจากกรมการข้าว โดยมีนางสาวชวนชม  ดีรัศมี เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงรูปลักษณ์ใหม่ผลผลิตสูง และทำการศึกษาคุณภาพเมล็ด ลักษณะทางการเกษตร และลักษณะทางพันธุกรรมของข้าวรูปลักษณ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง คณะผู้วิจัยได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพในด้านการใช้โมเลกุลเครื่องหมายร่วมกับวิธีการมาตรฐานดั้งเดิม การนำเครื่องหมายดีเอ็นเอมาใช้แสดงการวิวัฒนาการ และการจัดจำแนกพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต นอกจากจะนำมาใช้ในการทำนายองค์ประกอบของจีโนม และวิวัฒนาการของพืชแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบยีน,หาความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ และการคัดเลือกพันธุ์ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงพันธุ์พืช  เพื่อจะช่วยย่นระยะเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกลักษณะให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยที่ได้วางไว้ และยังสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ของพันธุ์ใหม่ในรูปแบบของลายพิมพ์ดีเอ็นเอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาพัฒนาต่อยอดและใช้เป็นประโยชน์ในทางการค้าได้  

ผลสำเร็จของงานวิจัยทำให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง ชนิดไม่ไวต่อช่วงแสง เพื่อแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการผลิต เป็นการเพิ่มผลิตภาพ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลกให้แก่ผลผลิตข้าวที่เลื่องชื่อของไทยเรา

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook