สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อเพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้สำหรับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ปีที่ 2)

จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ถั่วลิสงเป็นพืชหนึ่งที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสม เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำตลอดฤดูปลูกน้อยกว่าข้าวและตลาดมีความต้องการสูง สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกลดลงและผลผลิตต่อไร่ของประเทศอยู่ในระดับต่ำ แนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ การปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงให้มีผลผลิตสูงขึ้น การคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูของถั่วลิสง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการแปลง การจัดการน้ำและธาตุอาหารพืชอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการของถั่วลิสง เป็นต้น

ปัจจุบันมีถั่วลิสงหลายพันธุ์ที่พัฒนาจากหน่วยงานของทางราชการ ซึ่งมีทั้งพันธุ์ถั่วลิสงขนาดเมล็ดโต (น้ำหนัก 100 เมล็ด หนักมากกว่า 60 กรัมขึ้นไป) ได้แก่ เกษตร 1 เกษตรศาสตร์ 50 มข. 60 และขอนแก่น 6 และพันธุ์ขนาดเมล็ดปานกลาง (น้ำหนัก 100 เมล็ด อยู่ระหว่าง 35 – 60 กรัม) ได้แก่ ไทนาน 9 ขอนแก่น 4 ขอนแก่น 5 สข.38 ขอนแก่น 84-7 และขอนแก่น 84-8 โดยพันธุ์ขนาดเมล็ดปานกลางจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าพันธุ์ขนาดเมล็ดโตและยังเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนผู้ประกอบกิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง ได้แก่ บริษัทโรงงานแม่รวย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานชั้นนำของประเทศไทยที่ผลิตขนมอบกรอบภายใต้แบรนด์ “โก๋แก่” และมีการใช้วัตถุดิบฝักและเมล็ดถั่วลิสงเป็นจำนวนมาก วัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งรับซื้อจากเกษตรกรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกถั่วลิสงและรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในรูปแบบของระบบเกษตรพันธสัญญาหรือ “contract farming”  อย่างไรก็ตามพันธุ์ถั่วลิสงที่ทางบริษัทฯ ใช้เป็นพันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ ไทนาน 9 และขอนแก่น 5 จะไม่ต้านทานต่อโรคยอดไหม้ (peanut bud necrosis virus) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสและมีเพลี้ยไฟเป็นแมลงพาหะ กรณีที่เกิดการระบาดของโรคยอดไหม้อย่างรุนแรงในพื้นที่เพาะปลูกก็อาจทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

โครงการปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ รวมทั้งมีคุณภาพของเมล็ดเป็นที่ยอมรับของตลาดอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง โดยคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมพันธุ์ถั่วลิสงที่มีการปรับตัวดีและต้านทานต่อโรคยอดไหม้มาใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่ ผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พ่อแม่ แล้วคัดเลือกและประเมินผลผลิตเบื้องต้นทั้งในสถานีวิจัยต่างๆ และในระดับไร่นาเกษตรกรบางพื้นที่ อย่างไรก็ตามการทดสอบผลผลิตในระดับไร่นาเกษตรกรพื้นที่เป้าหมายในหลายพื้นที่ปลูกและหลายฤดูปลูกนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งก่อนการตัดสินใจคัดเลือกพันธุ์ที่มีศักยภาพแนะนำให้กับเกษตรกร โดยสามารถวิเคราะห์หาปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์กับสภาพแวดล้อมและเสถียรภาพการให้ผลผลิตของแต่ละพันธุ์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญประกอบการพิจารณาคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่อไป จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี พ.ศ. 2558 พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกถั่วลิสงประมาณ 135,902 ไร่ โดยภาคเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้สุทธิของครัวเรือนภาคการเกษตรจะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้สุทธิต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

ดังนั้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อเพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้สำหรับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ปีที่ 2)” ผศ.ดร.ธนพล ไชยแสน ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงด้านพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคยอดไหม้และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีคุณภาพผลผลิตเป็นที่ยอมรับในการทำอุตสาหกรรมแปรรูป จากนั้นขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อแจกจ่ายสู่เกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงเพื่อใช้ปลูกทดแทนข้าวนาปรังในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป  เพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรจากการผลิตถั่วลิสงในภูมิภาคดังกล่าวให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook