สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ ด้วยการพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสง

ถั่วลิสงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ใช้น้ำตลอดฤดูปลูกน้อย มีศักยภาพสูงและเหมาะสมในการใช้เป็นพืชที่ปลูกทดแทนการปลูกข้าวนาปรังตามนโยบายของภาครัฐ เนื่องจากเป็นพืชที่ตลาดยังมีความต้องการอยู่มาก กำลังการผลิตปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เพราะพื้นที่ในการเพาะปลูกที่ลดลงและผลผลิตต่อไร่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย ทำให้ประเทศไทยเราต้องนำเข้าจากประเทศเป็นมูลค่านับพันล้านบาท

หากเราสามารถปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงให้มีผลผลิตสูงขึ้น มีความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ซึ่งเป็นปัญหาของเกษตรกรในแถบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทั้ง การจัดการแปลง การจัดการน้ำและธาตุอาหารพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมก่อให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้นและมีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นการยกระดับผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรจากการผลิตถั่วลิสงมากยิ่งขึ้น

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อเพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้สำหรับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ปีที่ 2) ” โดยมี ผศ.ดร.ธนพล ไชยแสน เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาพันธุถั่วลิสงสายพันธุ์ดีเด่นที่มีความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำการทดสอบผลผลิตในระดับไร่นาเกษตรกร ก่อนที่จะขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อแจกจ่ายสู่เกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงต่อไป

โครงการวิจัยนี้ได้ใช้เวลาในการศึกษาวิจัย 2 ปี เพื่อศึกษาประเมินผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคดังกล่าวทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน จากนั้นจึงคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรคยอดไหม้ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่และเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อเตรียมแจกจ่ายและแนะนำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอื่น ๆ นำไปปลูกเพื่อสร้างรายได้ต่อไป

ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ทำให้เกิดความหลากหลายด้านพันธุ์ถั่วลิสงภายในประเทศไทย เป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการเลือกพันธุ์มาใช้เพาะปลูก ยิ่งมีพันธุ์มากก็ยิ่งลดความเสี่ยงในการใช้พันธุ์ที่มีพันธุกรรมเหมือนกันจนอาจเกิดโรคพืชได้ ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงด้านพันธุ์สู่เกษตรกรผ่านกระบวนการมีส่วนร่วนในการคัดเลือกพันธุ์โดยกลุ่มเกษตรกรจากแต่ละพื้นที่ และมีแปลงสาธิตให้เกษตรกรได้เรียนรู้ โดยคณะผู้วิจัยได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเข้ารับการแนะแนวการผลิตถั่วลิสงจากผู้วิจัยได้อย่างใกล้ชิด อักทั้งยังมีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร ทำให้เกิดพันธุ์พืชที่สร้างรายได้ดี ช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีป้องกันโรคยอดไหม้ เพราะมีพันธุ์ดีเด่นที่ต้านทานโรคได้ และยังใช้น้ำน้อย ทำให้สามารถนำมาปลูกสร้างรายได้ทดแทนการปลูกข้าวนาปรังได้อีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook