สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาสายพันธุ์และสรรพคุณทางโภชนาการของสุคนธรส (ปีที่ 2)

ผลไม้ในสกุล Passiflora ที่สามารถรับประทานได้และเป็นที่รู้จักมีด้วยกัน 5 ชนิดได้แก่ เสาวรสสีม่วง เสาวรสสีเหลือง  เสาวรสหวาน สุคนธรส และ winged-stem passiflora (P. alata)  ประเทศไทยมีสายพันธุ์เสาวรสที่นิยมปลูกกัน จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ผลสีม่วง สายพันธุ์ผลสีเหลือง และพันธุ์ลูกผสม ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มักนิยมปลูกสุคนธรสเพื่อการบริโภคทางการค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรสชาติดี กลิ่นหอม และขนาดผลใหญ่ และมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าเสาวรส อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องของคุณภาพของสายพันธุ์สุคนธรสที่ใช้ในการเพาะปลูกทางการค้า เนื่องจาก เกษตรกรได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ของสุคนธรสเพื่อนำมาใช้ในการขยายพันธุ์ในแปลงเพาะปลูกในรุ่นต่อไป จึงส่งผลทำให้ต้นสุคนธรสเกิดการกลายพันธุ์ ส่งผลทำให้ผลผลิตของสุคนธรสลดลง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงสูงต่อคุณภาพผลผลิต ทั้งด้านขนาดของผลและปริมาณการติดผลต่อต้น รวมไปถึงปริมาณเมล็ดและเยื่อหุ้มเมล็ดลดลงของผลผลิตที่ได้ลดลง ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนปลูก และยังส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการรวมทั้งสารพฤกษเคมีที่ได้จากพืชอีกด้วย

ดังนั้น การปรับปรุงสายพันธุ์ของสุคนธรสเพื่อให้ได้สายพันธุ์ลูกผสม จึงนับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีสายพันธุ์ของสุคนธรส เพื่อให้มีคุณภาพทางโภชนาการสูงและสามารถนำมาใช้ในการบริโภค การนำมาสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มาประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ทั้งนี้การศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการ เช่น ประสิทธิภาพของการสังเคราะห์ด้วยแสง การสะสมปริมาณรงควัตถุที่สำคัญของพืช การรักษาประสิทธิภาพการรักษาปริมาณน้ำของต้นสุคนธรส รวมทั้งการศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคศาสตร์ และฤทธิ์ของสารพฤกษเคมีต่อความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในสุคนธรสเพื่อให้ทราบถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการของพันธุ์ลูกผสมที่ได้ เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เกษตรกรปลูกในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้นักสรีรวิทยาพืชและนักปรับปรุงพันธุ์พืช ได้ทราบถึงคุณภาพของผลผลิตและความแตกต่างของสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมี  ดร. อนันต์ พิริยะภัทรกิจ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาสายพันธุ์และสรรพคุณทางโภชนาการของสุคนธรส (ปีที่ 2)” ซึ่งเป็นการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์โดยต่อยอดจากงานวิจัยเดิม โดยแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมย่อยคือ

  • กิจกรรมย่อยที่ 1 ศึกษาการเจริญเติบโตของสุคนธรสลูกผสมและแนวทางการผลิตต้นพันธุ์สู่การปลูกเลี้ยง

โดยคัดเลือกสุคนธรสลูกผสมและปรับปรุงสุคนธรสและเสาวรสด้วยวิธีการชักนำให้เกิดกลายพันธุ์โดยวิธีการฉายรังสีให้มีความคงตัวทางพันธุกรรมและมีความสม่ำเสมอในด้านการปลูกเลี้ยง เจริญเติบโต คุณภาพผลผลิต และการให้ผลผลิต รวมถึงการขยายพันธุ์เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตต้นพันธุ์สู่การปลูกเลี้ยงให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งศึกษาปริมาณรงควัตถุที่สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เช่น คลอโรฟิลล์ เอ คลอโรฟิลล์ บี และแคโรทีนอยด์ และศึกษาดัชนีค่าความเขียวของใบของสุคนธรสลูกผสม และเสาวรสสายพันธุ์กลายที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยวิธีการฉายรังสี

  • กิจกรรมย่อยที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและฤทธิ์ทางชีวภาพของสารพฤษเคมีในสุคนธรสลูกผสมและการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากสุคนธรสและเสาวรส

โดยศึกษาประสิทธิภาพของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช  ศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคศาสตร์ และศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารพฤกษเคมีในสุคนธรสและเสาวรส ตลอดจนพัฒนาสูตรและกระบวนการแปรรูปอาหาร และผลิตเครื่องดื่มจากผลสุคนธรสและเสาวรสในระดับห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในแง่ของคุณภาพด้านประสาทสัมผัส

ผลงานวิจัยสามารถนำมาใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลในการส่งเสริมและพัฒนาสายพันธุ์ของสุคนธรสในประเทศไทยต่อไป และยังเป็นการเพิ่มคุณภาพวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมให้มีศักยภาพในการผลิตที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook