สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาเทคโนโลยีระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู

แนวคิดการผลิตสินค้าประจำท้องถิ่น  เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเจริญแก่ชุมชนให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่สามารถสร้างรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีสินค้าด้านอาหารที่เป็นเสน่ห์ของเบตง คือ ปลาพลวงชมพู หรือ “อีแกกือเลาะห์” ที่นิยมนำมาทำเป็นอาหารและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก มีราคาจำหน่ายที่สูงถึงจานละ 5,000 บาท/ตัว รวมทั้งได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากตัวปลามีลักษณะสวยงามและเนื้อมีรสชาติอร่อย นอกจากนี้ยังมีเกล็ดที่อ่อนนุ่มแตกต่างจากปลาทั่วไป จึงนิยมกินทั้งเกล็ด ได้ทั้งโปรตีน แคลเซียม และคอลลาเจน ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูด้วยวิธีการผสมเทียมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2551 อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ไม่สามารถเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูได้อีกเลยเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ตั้งแต่กระบวนการเพาะพันธุ์ที่ยังไม่เหมาะสม ไม่สามารถคัดเลือกปลาพ่อแม่พันธุ์ที่โตเต็มวัย การเจริญพันธุ์ของปลาพ่อแม่พันธุ์ต่ำ และความจำเป็นในการใช้การผสมเทียมเพื่อกระตุ้นการวางไข่ ซึ่งอาจทำให้ปลาบอบช้ำได้ รอบการวางไข่และจำนวนไข่ที่น้อย ไข่ปลาไม่สมบูรณ์  การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แม่ปลาไม่วางไข่ รวมถึงข้อจำกัดในการจัดระบบการเลี้ยงและการจัดการพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่เอื้อต่อการขยายพันธุ์

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปลาพลวงชมพูสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำประเทศไทยและพัฒนาการผลิตปลาพลวงชมพูเพื่อให้เป็นสินค้าสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู” เพื่อให้คณะผู้วิจัยได้ศึกษาหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของปลาพลวงชมพู เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงและการอนุรักษ์ต่อไป โดยทำการวิจัยผ่าน 4 กิจกรรม ดังนี้

  • พัฒนาระบบเลี้ยงและจัดการพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูในโรงเพาะฟักอัจฉริยะระบบ EVAP โดยให้สามารถควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ โดยการปรับอุณหภูมิให้ลดลงได้ใกล้เคียงและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในธรรมชาติในรอบปี โดยการใช้ระบบ EVAP และเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน
  • พัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหารเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพู เพื่อให้พ่อแม่ปลามีความสมบูรณ์เพศพร้อมสำหรับการเพาะขยายพันธุ์ โดยศึกษาผลการเสริมแอสตาแซนทินในอาหารสำเร็จรูปต่อประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ปลาพลวงชมพู
  • ศึกษาระดับโปรตีนและไขมันในอาหารที่มีผลต่อการสืบพันธุ์ของปลาพลวงชมพู เพื่อเสริมคุณภาพของไข่ให้มีความสมบูรณ์สามารถแก้ปัญหาการชะงักการเจริญพัฒนาของไข่ในช่วงระยะหลังจาก Gastrula stage
  • พัฒนาระบบรางฟักไข่ปลาพลวงชมพูแบบระบบน้ำไหลผ่านเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมในการแก้ปัญหาการสะสมของเสียจากไข่ที่เน่าเสียในระบบฟักไข่ที่จะส่งผลให้ไข่มีอัตราการฟักสูงขึ้น

ผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฟักไข่ให้มีอัตราการฟักสูงขึ้น ได้ลูกพันธุ์ปริมาณที่มากเพียงพอต่อการนำไปขยายการเลี้ยงในพื้นที่ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร สามารถสนับสนุนระบบการเลี้ยงของเกษตรกรได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน ก่อให้เกิดภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook