สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเชิงพลวัตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เป็นไปตามผังเมือง

อุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับมนุษย์ทั้งชีวิตและทรัพย์สินหลายประการ หากเกิดในพื้นที่เมือง จะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังทำให้การสัญจรทางบกติดขัดหรือไม่สามารถเดินทางได้เลย เกิดน้ำเน่าเหม็นในพื้นที่ที่น้ำขังเป็นเวลานาน เกิดขยะจำนวนมากภายหลังน้ำ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากเกิดในพื้นที่เกษตรกรรม จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อผลผลิต และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร เป็นต้น เมื่อฝนตกลงมาในพื้นที่โดยตรงหรือพื้นที่ต้นน้ำแล้วไหลบ่ามาตามผิวดิน และแม่น้ำ ลำคลอง ในปริมาณที่มากกว่าความสามารถที่จะระบายน้ำออกจากพื้นที่ จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ ทั้งนี้ระดับความสูงของน้ำท่วมและระยะเวลานั้น ขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ ระยะห่างจากทางน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีส่วนในการขัดขวางการระบายน้ำทำให้ศักยภาพในการระบายน้ำลดลง

การประเมินความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมเป็นการประเมินความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำที่มากเกินกว่าที่จะจัดการได้ ประกอบด้วยการประเมินโอกาสเกิดน้ำท่วม และการประเมินความอ่อนไหวหรือผลกระทบเนื่องจากน้ำท่วม  โดยที่การประเมินโอกาสเกิดนั้นจะเป็นการวิเคราะห์ทางอุทกวิทยาเพื่อหาพื้นที่น้ำท่วม ความสูงของน้ำ และระยะเวลาในการระบายน้ำ ส่วนการประเมินความอ่อนไหวหรือผลกระทบจากน้ำท่วมนั้นเป็นการวิเคราะห์ความเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วม  ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของสิ่งก่อสร้างและประชากร รวมทั้งช่วงเวลาที่เกิดภัย ตัวอย่างเช่น การเกิดฝนตกในเวลากลางคืนที่ไม่มีการจราจรเบาบาง จะทำให้มีผลกระทบน้อยกว่าช่วงเวลาเช้า ที่ผู้คนใช้ถนนเพื่อออกไปทำงาน เป็นต้น

คณะนักวิจัยจึงมีแนวความคิดที่จะทำการประเมินความเสี่ยงภัยจากน้ำท่วมเชิงพลวัตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อศึกษาความเสี่ยงในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต และประเมินความเสี่ยงเชิงพลวัตเนื่องจากการใช้พื้นที่ของมวลชนตามช่วงเวลาเพื่อวางแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถจัดการได้ ดังนั้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเชิงพลวัตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เป็นไปตามผังเมือง” โดยมี ดร.สันติ ไทยยืนวงษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อทำการศึกษาในประเด็นดังกล่าว

งานวิจัยครั้งนี้ได้คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในพื้นที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร และมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายเมืองออกมาจากกรุงเทพมหานคร มีโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมใหม่ ๆ เช่น ทางหลวงมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้พื้นที่มีความเสี่ยงภัยน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น โดยการวิเคราะห์ความเสี่ยงนั้นได้พิจารณาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบันเป็นฐาน และทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโดยศึกษาและจำลอง scenario ต่างๆ ที่มีแนวโน้มเป็นไปได้ และจัดทำแผนที่จะดำเนินการในรูปแบบ GIS ที่สามารถประเมินความเสี่ยงเชิงพลวัตเนื่องจากการปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนได้รูปแบบการประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นพื้นที่ต้นแบบให้พื้นที่อื่นได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook