สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มวนแดงฝ้าย ตัวจิ๋ว พิษสงร้าย

มวนแดงฝ้าย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Red Cotton Bug หรือ Cotton Stainer Bug หรือ Red cotton Steiner  ส่วนทางภาคใต้ของบ้านเราเรียกว่า แมงนุ่น แต่โดยทั่วไปมักเรียกว่ามวนแดงเฉยๆ หรือมวนแดงฝ้าย ที่ตัวเต็มวัยและตัวอ่อน จะดูดน้ำเลี้ยงจากสมอฝ้ายอ่อนจนทำให้สมอฝ้ายชะงักการเจริญเติบโต หลุดร่วง เกิดเชื้อรา หรือสมอแตกก่อนระยะที่เหมาะสม สำหรับสมอฝ้ายที่เกิดเชื้อรานั้น จะมีเส้นใยที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เส้นใยไม่บริสุทธิ์ นอกจากนี้แมลงชนิดนี้ยังเข้ากัดกินเมล็ดฝ้าย ทำให้เมล็ดด้อยลงในเรื่องของอัตราการงอก ไม่สามารถนำไปสกัดน้ำมันได้อย่างเหมาะสม ทำให้ไม่ได้รับปริมาณและคุณภาพเท่าที่ควร

มวนแดงฝ้ายเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ขนาดของตัวเต็มวัยยาวราว 1.5 เซนติเมตร ไข่มีสีครีมขุ่นออกขาว เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยจะมีสีแดงบริเวณหัวและมีสีส้มบริเวณอก ระหว่างหัวและอกจะมีเส้นสีขาวตัดขวางอยู่ บริเวณสันหลังมีสีดำ มีสีส้มจุดดำที่ปีกแข็ง และสีดำล้วนที่ปีกบาง หนวดและขามีสีดำสนิท บริเวณท้องมีสีแดงอมส้ม และมีลายเส้นสีขาวบริเวณลำตัว นอกจากต้นฝ้ายแล้ว แมลงชนิดนี้ยังรุกรานพืชชนิดอื่น เช่น มะเขือมอญ กระเจี๊ยบ น้ำเต้า กะหล่ำปลี และ นุ่น เป็นต้น

วงจรชีวิตของมวนแดงฝ้ายจะแบ่งเป็นระยะวางไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย โดยระยะไข่นั้นจะใช้ระยะเวลา 5-6 วัน ไข่จะมีลักษณะกลมรี ขนาด 1.2×0.8 มิลลิเมตร สีครีมขุ่นและจะทยอยเปลี่ยนเป็นสีที่เหลืองเข้มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใกล้วันออกเป็นตัวอ่อนจะยิ่งเข้มมากขึ้น พฤติกรรมการวางไข่ จะวางไข่เป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 60-120 ฟอง บนดินใต้ต้นฝ้ายบริเวณโคนต้นที่มีเศษฝุ่นผงจำนวนมาก หรืออาจจะวางไว้ใต้ดินในระยะความลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตรแล้วนำเศษผงมากลบซ่อนไว้ ตัวเมียแต่ละตัวจะออกไข่ได้ถึง 5 ครั้ง

ระยะตัวอ่อนใช้เวลาถึง 30 วัน โดยมีการลอกคราบถึง 5 ครั้ง โดยช่วงแรกที่เริ่มลอกคราบจะอยู่กันเป็นกลุ่มบริเวณที่ออกเป็นตัว คือ บริเวณโคนต้นฝ้าย พอเริ่มเข้าสู่การลอกคราบครั้งที่ 3-4 จะเริ่มเข้าทำลายและดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นฝ้าย และจะเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยเมื่อลอกคราบครบ 5 ครั้ง หลังจากนั้นเพียง 7 วันก็จะเริ่มผสมพันธุ์กัน และวางไข่ โดยตัวเต็มวัยจะมีอายุประมาณ 30-45 วัน

การป้องกันมวนแดงฝ้ายเบื้องต้น คือ เริ่มการปลูกฝ้ายให้เร็วกว่าฤดูกาลผลิต รวมทั้งการดูแลความสะอาดในแปลงปลูกโดยเฉพาะบริเวณโคนต้น ควรจัดการทำลายฝุ่นผงใต้ต้น กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของมวนชนิดนี้ เผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยว และหากพบว่าต้นใดมีแมลงชนิดนี้เข้ารุกรานต้องรับตัดและนำไปทำลายนอกพื้นที่ และใช้ศัตรูธรรมชาติของมวนชนิดนี้เข้ามาใช้ในพื้นที่ เช่น ด้วง Carabid และ มวน reduviid ที่เป็นตัวห้ำที่อยู่ในดิน รวมทั้งแตนเบียน Tachinid ก็สามารถใช้ได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook