สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะกอกป่า ผลไม้ป่าที่มีการกระจายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ

มะกอกป่า มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า  Hog plum เป็นผลไม้ป่าที่มีการกระจายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติในป่าดงดิบชื้นและป่าเบญจพรรณ บนที่สูงจากจากน้ำทะเลไม่น้อยกว่า 50 เมตรซึ่งไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ผลให้ผลไม้รสเปรี้ยว มีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียแต่ได้รับการแพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนตอนใต้และหมู่เกาะโซโลมอน นิยมนำยอดอ่อนและใบมารับประทานสดคู่กับอาหารที่มีรสจัด เช่น ยำ ส้มตำ และลาบ ส่วนผลจะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเมนูน้ำพริก แกงส้มและส้มตำ และบางครั้งก็ถูกนำผลดิบมารับประทานสดอีกด้วย นอกจากนั้นแพทย์พื้นบ้านยังได้นำส่วนต่างๆ ของต้นมะกอกป่า ทั้ง ผล ใบและเปลือกไม้มาใช้เป็นยาสมุนไพร ดับกระหาย บรรเทาอาการร้อนใน และอาการในระบบทางเดินหายใจและลำไส้ รวมไปถึงใช้เป็นยาบรรเทาอาการท้องเดิน ส่วนบางพื้นที่ในประเทศฟิลิปปินส์นำใบและผลมะกอกป่ามาใช้เป็นส่วนประกอบอาหารพื้นเมืองเพื่อเพิ่มความหวาน และในประเทศอินเดียมักจะนำผลมาหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าดองเกลือเพื่อใช้รับประทานเคียงกับเมนูอาหารต่างๆ

ต้นมะกอกป่า เป็นต้นไม้ที่มีความสูงระหว่าง 15-25 เมตร จัดเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง สูงชะลูด เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่งกลม ลำต้นมีสีเทา เปลือกไม้มีผิวเรียบ ก้านและกิ่งไม้มีผิวเกลี้ยงและปรากฏแผลใบบนกิ่งอ่อน ใบเป็นใบประกอบแตกเป็นช่อ แผ่นใบเรียบ หนา ขอบใบเรียบ แตกดอกเล็กๆ สีขาวตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกผลเป็นรูปไข่ เปลือกนกสีเขียว เนื้อผลสีเขียวปนเหลือง รสเปรี้ยวจัด ตรงกลางผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ที่มีเสี้ยนปกคลุม

สำหรับการขยายพันธุ์มะกอกป่านั้น สามารถทำได้หลายวิธีทั้งการตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด และการปักชำ แต่เพื่อนๆ เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกไม่มาก ต้องการให้ได้ผลติดไว ต้นเตี้ย อาจจะเลือกใช้วิธีการขยายพันธุ์แบบตอนกิ่งหรือปักชำ และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงเริ่มปลูกเพราะต้นไม้ชนิดนี้เป็นไม้เนื้ออ่อน อาจจะติดรากไม่ง่ายนัก ส่วนเพื่อนๆ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกเยอะ ต้องการไม้สูงเพื่อใช้ประโยชน์จากร่มเงา ก็สามารถปลูกด้วยการเพาะเมล็ดที่ถือว่าเป็นการขยายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะวิธีนี้จะทำให้ได้ผลมะกอกป่าจำนวนมากและต้นมะกอกมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานกว่าการตอนกิ่งและปักชำ การขยายพันธุ์ควรทำในช่วงเริ่มเข้าสู่หน้าฝน และควรเลือกถุงเพาะชำที่มีขนาดประมาณ 10 นิ้ว เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของรากที่จะงอกออกมาได้อย่างเต็มที่ และเมื่อต้นกล้าที่เพาะไว้มีความแข็งแรง ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 20 เซนติเมตรแล้วค่อยย้ายไปปลูกยังทำเลที่เราต้องการได้เลย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook