สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะกอกฝรั่ง ผลไม้รสเปรี้ยว ปลูกง่ายขายได้ทั้งปี

มะกอกฝรั่ง ผลไม้รสเปรี้ยวนำหวานตาม อันเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนที่ชอบทานของเปรี้ยวส่วนใหญ่ ทำให้สามารถพบมะกอกฝรั่งวางขายในร้านผลไม้ต่างๆตามตลาด หรือตามรถเข็นผลไม้ โดยจะนิยมนำผลมะกอกฝรั่งสุกมาปอกเปลือกทานคู่กับพริกเกลือ หรือ นำมายำใส่พริกทานกัน เพราะมะกอกฝรั่งจะให้รสชาติเปรี้ยวอมหวานมัน ทั้งยังกรอบอร่อยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดในบ้านเราครับ

มะกอกฝรั่งเป็นพืชที่ชอบขึ้นในเขตร้อน มีอยู่มากในประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก่อนที่จะค่อยๆ มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงประเทศไทยในบ้านเรา โดยประเทศเพื่อนบ้านหรือในต่างประเทศเขตร้อนนั้นมักจะนำผลมะกอกฝรั่งมารับประทานและใช้เป็นวัตถุในการทำอาหารหรือใส่ในแกงต่างๆ และยังนำมะกอกฝรั่งมาแปรรูปโดยคั้นเป็นน้ำผลไม้สด ดื่มเพื่อคลายร้อน ในบ้านเรามักจะเข้าใจว่า มะกอกฝรั่งกับมะกอกน้ำ คือมะกอกชนิดเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นคนละชนิดกัน โดยมะกอกฝรั่งจะมีผลที่กลมกว่ามะกอกน้ำ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานกว่า ส่วนมะกอกน้ำจะให้รสชาติที่ฝาดกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมบริโภคกันสักเท่าไหร่ครับ

ต้นมะกอกฝรั่งมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 25 เมตร เจริญเติบโตแตกกิ่งใบสาขาออกรอบๆ ลำต้นจนเป็นทรงพุ่ม มีใบงอกเรียงกันเป็นขนนกทั้งสองฟากกิ่ง ลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ให้ลูกดกตลอดทั้งปี ผลมะกอกฝรั่งมีสีเขียวเข้มเมื่อผลเริ่มแก่ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนอมส้ม

การปลูกมะกอกฝรั่งสามารถทำได้ 3 แบบ คือการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมกันส่วนใหญ่มักจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพราะมะกอกฝรั่งหากิ่งพันธุ์ที่ดีได้ยากครับ โดยปลูกในที่ที่มีภูมิอากาศร้อน มีแสงแดดเหมาะสม ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดีไม่มีน้ำขัง ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนป่นทราย ที่มีอินทรียวัตถุมาก วิธีปลูกให้นำดินที่เตรียมไว้พรวนจนร่วนตากแดดเป็นเวลา 7-14 วันมาใส่ในถุงเพาะชำและนำเมล็ดที่เตรียมไว้ใส่ลงในดินไม่ต้องลึกมาก จากนั้นก็กลบหน้าดินและรดน้ำ หลังปลูกให้วางไว้ในที่ที่ไม่มีแสงแดดส่องถึงรอเวลาประมาณ 6 เดือนก็จะได้กล้าต้นมะกอกฝรั่ง จากนั้นก็ทำการปลูกลงแปลงได้ โดยแปลงปลูกที่เหมาะสมจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึง ไม่มีน้ำท่วมขัง จึงจะทำให้มะกอกฝรั่งเจริญเติบโตได้ดีครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook