สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะปราง ผลไม้ต้านอนุมูลอิสระ

มะปรางผลไม้สีเหลืองนวลจางๆ แต่รสชาติแตกต่างกันสุดขั้วในแต่ละพันธุ์ โดยพันธุ์ที่เปรี้ยวจี๊ดจนแค่คิดน้ำลายสอ คือ  พันธุ์กาวาง ฟังชื่อแล้วต้องคิดตามเลยว่า อีกาจะมาจิกไปกิน ยังต้องปล่อยวางกันเลย ลดเปรี้ยวลงมาอีกนิดก็พันธุ์ มะปรางเปรี้ยว ตามชื่ออีกนั่นแหละครับ แม้จะสุกแล้วก็ยังคงความเปรี้ยวไว้ได้ และมาสับหว่างด้วยมะยงห่าง ที่เปรี้ยวๆ หวานๆ คละรสได้ดี  ส่วนที่หวานเกือบที่สุดคือ มะปรางหวาน ที่เรียกได้ว่า มีความหวานจัดแต่แอบซ่อนเปรี้ยวน้อยๆ และที่สุดของมะปรางหวาน ก็ต้องยกให้นางเอกตัวจริง มะยงชิด นั่นเอง

การปลูกมะปรางนั้นเราจะเริ่มปลูกช่วงหมดแล้งแล้ว คือฝนเริ่มลงเม็ดเดือนพฤษภาเราก็จะเริ่มลงปลูกกันแล้วครับ ปลูกทิ้งไว้ 3 ปี ถ้าให้น้ำ ให้ปุ๋ยดีๆ ก็จะเริ่มแตกช่อ พอแตกดอกแล้วไม่เกิน 3 เดือนก็ได้ผลผลิตแล้วครับ เรียกได้ว่าไม่เกิน 4 ปีก็สามารถทำเงินได้แล้ว โดยสามารถทำกำไรได้ถึงไร่ละ 40,000 บาทต่อปีกันเลย คือพอออกรุ่นแรกก็คืนทุนแล้วครับ

ด้วยความที่มะปรางนั้นเป็นผลไม้มหัศจรรย์ ที่ราคาไม่ค่อยจะตก ต่อให้มีปริมาณมากแค่ไหน คนก็ซื้อครับ เพราะเป็นผลไม้ที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่าความต้องการตลาดมาก  ยิ่งเดี๋ยวนี้ตลาดขยายไปสู่ต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่ต้องหวั่นเรื่องราคากันเลยครับ เน้นคุณภาพจัดๆ รับรองทำเงินสบายๆ

ข้อดีของการปลูกมะปรางก็คือ ดูแลง่ายครับ ให้ดีก็ปลูกใกล้น้ำหน่อย ต่อท่อน้ำขึ้นมารดสม่ำเสมอ จะได้มีน้ำไม่ขาด ได้ผลผลิตเยอะและให้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักร่วมกับจุลินทรีย์มาบำรุงสลับๆ กันไป เราจะไม่ใช้สารเคมีเลยนะครับ ถ้าหากเน้นส่งออก ป้องกันการปนเปื้อนต่างๆ ซึ่งมีผลเสียหายภายหลังครับ วิธีคุมค่าใช้จ่ายที่ดี คือตัดกิ่งใบให้ต้นไม้เป็นทรงพุ่มเล็กๆ จะได้ดูแลง่ายไม่เปลืองปุ๋ย เปลืองน้ำ และได้ผลผลิตเยอะ เพราะประหยัดพื้นที่ ทำให้ปลูกผลผลิตได้มากขึ้นไงล่ะครับ

มะปรางที่ตลาดต้องการคือมะปรางหวาน ลูกโต เมล็ดลีบ เนื้อเยอะ รสชาติหวาน เลยมีนักวิจัยหาวิธีการปรับปรุงพันธุ์ ด้วยการเพิ่มความแปรปรวนของพันธุ์ ให้เกิดลักษณะดีของพันธุ์ที่เราต้องการ โดยปัจจุบันเขาใช้รังสีต่างๆ มาช่วยในการกลายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างที่เพื่อนๆ เกษตรกรต้องการเลย

ตัวบ่อนทำลายที่สำคัญของมะปราง คือเพลี้ยไฟครับ ซึ่งจะเริ่มแผลงฤทธิ์ช่วงที่กำลังแทงยอดใบและผลิดอก ด้วยการเข้าไปดูดน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดขี้กลาก สีน้ำตาลไหม้บริเวณใบ ดอกและผล ให้ใช้ชีวภัณฑ์เท่านั้นนะครับ ผมอยากให้เพื่อนๆ เกษตรกรของเราทุกคนมีความปลอดภัยในอาชีพ และมีโอกาสในการส่งออกผลผลิตของเราสู่ต่างประเทศ เพื่อให้เราทุกคน ประกอบ อาชีพเกษตรกร กันได้ยืนยาวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook