สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมเนื้อกะทิแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ

มะพร้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน โดยปัจจุบันได้มีการบริโภคมะพร้าวในหลากหลายรูปแบบ เช่น เนื้อมะพร้าวสด น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม และน้ำกะทิคั้น ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวแกงที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เนื่องจากความหลากหลายของมะพร้าวที่พบในประเทศและการเกิดการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติทำให้ประเทศไทยมีการผลิตมะพร้าวที่มีความพิเศษและความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งคือ มะพร้าวเนื้อกะทิ (Makapuno) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ามะพร้าวกะทิ ซึ่งเป็นมะพร้าวพิเศษที่มีลักษณะเนื้อมะพร้าวฟูเมื่อผลแก่เต็มที่

นอกจากมะพร้าวกะทิแล้วมะพร้าวน้ำหอมก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งและถือเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ลักษณะความหอมในมะพร้าวเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่เป็นมูลค่าเพิ่มทำให้มะพร้าวน้ำหอมเป็นที่ต้องการของตลาด กลิ่นหอมในมะพร้าวน้ำหอมเป็นกลิ่นชนิดเดียวกันกับที่พบในข้าวหอมมะลิและถั่วเหลืองหอม (ถั่วแระญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทำให้ข้าวหอม ถั่วเหลืองหอม รวมถึงมะพร้าวน้ำหอมสามารถขายได้ราคาดีกว่าผลผลิตชนิดที่ไม่มีกลิ่นหอม

ปัจจุบันมะพร้าวกะทิกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสามารถบริโภคได้ทั้งแบบผลสดและนำไปแปรรูปเพื่อการเพิ่มมูลค่ามีราคาสูงมากกว่ามะพร้าวทั่วไป 5-10 เท่าตัว แต่ผลผลิตมะพร้าวกะทิยังมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการของตลาดมาก  เนื่องจากการคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวกะทิแท้จะสามารถทำได้เมื่อมะพร้าวให้ผลผลิตแล้วเท่านั้น ซึ่งใช้เวลานานกว่า 6 ปี

ผลงานวิจัยที่มาของคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวเรศ อารีกิจ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้ค้นพบยีนความหอมในมะพร้าวน้ำหอมและพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอในการคัดเลือกที่ความแม่นยำ 100% และราคาต้นทุนต่ำซึ่งสามารถใช้คัดเลือกมะพร้าวในขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ได้ จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพันธุ์ “มะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิ” ที่สามารถคัดเลือกได้โดยใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอ สามารถทำให้เกษตรกรสามารถคัดเลือกหน่อมะพร้าวได้และวางแผนการปลูกมะพร้าวกะทิในเชิงพาณิชย์ได้

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัย ในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ” เพื่อพัฒนาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิ โดยอาศัยการผสมผสานเทคโนโลยีจีโนมิกส์ (Genomicis) และทรานสคริปโตมิกส์ (Transcriptomics) ช่วยในการระบุตำแหน่งของยีน และพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอที่สามารถคัดเลือกทั้งลักษณะความหอมและเนื้อกะทิที่ความถูกต้อง 100%  ที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับการคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวแบบดั้งเดิม เพื่อลดขั้นตอนและร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวจาก 15 ปีลงเหลือเพียง 5 ปี นอกจากเทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอแล้ว โครงการยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิเพื่อรองรับการผลิตพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิล้วน

ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ ทำให้ได้พันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมที่สามารถระบุลักษณะได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้า ทำให้เกษตรกรสามารถลงทุนและคำนวณผลผลิตที่จะเกิดขึ้นได้ และเป็นการส่งเสริมการต่อยอดอุตสาหกรรมการแปรรูปมะพร้าวกะทิของประเทศไทย นอกจากนี้ พันธุ์มะพร้าวที่ได้เป็นพันธุ์มะพร้าวกะทิที่มีความหอมซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่มีเฉพาะประเทศไทย ถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันและเป็นอัตลักษณ์ของมะพร้าวไทยเจาะตลาดสินค้าพรีเมี่ยม สร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook