สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะม่วงมันขุนศรี หนึ่งในมะม่วงพันธุ์โบราณ

มะม่วงมันขุนศรี เป็นหนึ่งในพันธุ์มะม่วงโบราณที่มีนับร้อยพันธุ์ในอดีต และลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะพันธุ์มะม่วงที่ไม่ได้มีการปลูกเชิงการค้าเท่าใดนัก มะม่วงมันขุนศรีมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า บางขุนศรีตามท้องที่แหล่งปลูกดั้งเดิม เป็นมะม่วงพื้นบ้านโบราณที่รับประทานได้ทั้งสุกและดิบ และมีแหล่งปลูกอยู่แถบตลิ่งชัน ซึ่งเป็นฝั่งตะวันตกของกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดนนทบุรี ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน แม้ปัจจุบันจะหาซื้อได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ยังเป็นสายพันธุ์ที่คนรุ่นใหม่ยังคุ้นชินกับชื่อพันธุ์

มะม่วงสายพันธุ์นี้ หากเป็นผลดิบและอ่อนจะมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาฝานแช่น้ำปลาโรยน้ำตาลพริกป่นหรือเฉาะเป็นชิ้นๆ จิ้มกะปิหวานหรือพริกเกลือ หรือนำไปสับเป็นเส้นฝอยๆ ทานเคียงกับข้าวคลุกกะปิหรือใช้ปรุงรสเปรี้ยวในเมนูน้ำพริกต่างๆ ส่วนผลดิบที่แก่ได้ที่จะมีรสชาติมันคล้ายเขียวเสวย เนื้อมะม่วงกรอบ เหนียว เนื้อผลแทบไม่พบเสี้ยนและเมื่อสุกจะมีรสชาติหวาน กลิ่นหอม สีเหลืองเข้มสวยทั้งเปลือกและสีเนื้อผลสุก นิยมนำไปรับประทานคู่กับข้าวเหนียวมูล ลักษณะของผลมะม่วงบางขุนศรีนั้นจะมีรูปทรงล้ายเขียวเสวย คือ หัวผลจะกลมปละป้าน ส่วนกลางผลด้านหนึ่งจะเว้าและมีปลายผลแหลมตวัดออกจากกลางผล จนถูกเปรียบเปรยว่าปลายงอนคล้ายตัวอักษร S ของภาษาอังกฤษ เม็ดเดี่ยวขนาดเล็กค่อนข้างแบนลีบ ขนาดของผลมะม่วงเมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักถึง 350-800 กรัม ลักษณะลำต้นสูงไม่เกิน 20 เมตร แตกใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม มัน วาว แตกดอกที่ปลายกิ่งเหมือนมะม่วงพันธุ์อื่นๆ นิยมปลูกตามบ้านเรือนมากกว่าผลิตเพื่อขาย จึงขยายพันธุ์กันโดยการเพาะเมล็ดซึ่งเป็นวิธีที่ใช้สืบทอดกันมานาน แม้ว่าจะสะดวกและได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงและมีการงอกงามเจริญดี แต่มีข้อด้อยคือใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิตและต้นมะม่วงอาจมีกลายพันธุ์ได้ ดังนั้นวิธีการขยายพันธุ์ที่ถูกนำมาใช้ในปัจจุบันเพื่อไม่ให้กลายพันธุ์คือการเสียบยอดและทาบกิ่ง โดยใช้ต้นตอที่สมบูรณ์ ทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง สมบูรณ์ และได้พันธุ์ตรงตามพ่อแม่พันธุ์

การปลูกมะม่วงมันขุนศรี ควรปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงฤดูฝน เน้นการใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักรองก้นหลุมทุกครั้งและควรกลบดินให้พูนโคนต้น และมีไม้ค้ำยันกันต้นโค่นในระยะแรกเริ่ม รดน้ำวันละ 1 ครั้งจนกว่าลำต้นจะตั้งตรงจึงค่อยเว้นระยะการให้น้ำเหลือเพียง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หมั่นกำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่งไม่ให้หนาทึบเกินเพื่อป้องกันการเกิดโรค และหากพบโรคพืชส่วนไหนของต้นให้รีบตัดออกและทำลายในทันที ระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็อย่าลืมปลูกพืชผักสวนครัวแบบผสมผสาน เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้ใช้ในครัวเรือนและอาจนำไปขายเป็นรายได้กันด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook