สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มันมือเสือ มันป่าที่รับประทานได้

มันมือเสือ เป็นพืชที่ให้แป้งและพลังงานที่สามารถขึ้นได้โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นดินที่ไม่มีธาตุอาหาร ในป่า จนเรารู้จักกันว่าเป็นหนึ่งในมันป่าที่คนไทยเรานำมารับประทานเฉกเช่นเดียวกับมันกลอยและมันเสา  แม้ว่าจะไม่ใช่พืชอาหารหลักเหมือนข้าวก็ตาม แต่คุณค่าทางอาหารก็มีไม่น้อยทีเดียวครับ โดยมันชนิดนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในชนเผ่ามลาบรีทางภาคเหนือของไทย และชาเผ่าซาไกในแถบตอนใต้ของไทยที่ชอบฝังตัวตั้งรกรากอยู่ในป่าลึก

มันมือเสือ เป็นพืชชนิดเดียวกับกลอย มีหัวมันขนาดใหญ่ฝังอยู่ในดิน เป็นไม้เลื้อยที่ลักษณะลำต้นเป็นเถา มีเส้นผ่าศูนย์กลางของเถาประมาณ 1 ซม. สามารถทอดเถาทรงเหลี่ยมได้ไกลถึง 15 เมตร ตัวเถานั้นบางพันธุ์ผิวเรียบแต่บางพันธุ์กลับพบหนามปกคลุมโดยทั่ว เป็นพืชที่ไม่มีรากแก้วแต่มีรากฝอยสั้น โคนรากเป็นเหง้าขนาดใหญ่ที่เราเรียกกันว่าหัวมันซึ่งมีหลากสีแตกต่างกันไปตามแต่ละพันธุ์ มีทั้งสีม่วง สีครีมเข้ม ขณะที่รูปทรงของหัวมันนั้นจะมีหัวที่แบนนูน ไม่กลม และแตกออกมาเว้าแหว่งคล้ายมือตะปบของเสือหรือนิ้วมือสั้นๆ โดยจะแตกออกมาประมาณ 2-5 แฉกมนๆ เนื้อในของหัวมันก็มีทั้งสีขาวนวลและสีม่วงเช่นกัน

ลักษณะของใบมันมือเสือทั้ง 2 สี จะมีรูปทรงคล้ายใบโพธิ์ แต่พันธุ์สีม่วงจะมีใบใหญ่และยาวกว่าพันธุ์สีเนื้อ มีขอบใบเรียบ ตัวใบมันเรียบ ยอดใบของพันธุ์สีม่วงจะมีสีม่วงแกมแดง แต่พันธุ์สีครีมจะมีสีเขียวเรื่อ แตกดอกบนเถาตามง่ามใบแต่มีจำนวนดอกไม่มากจึงให้ผลน้อยตามไปด้วย โดยผลอ่อนจะมีลักษณะกลม ผิวไม่เรียบ แต่ผลจะเริ่มยาวรีขึ้นเมื่อแก่มากขึ้น โดยเราสามารถนำผลมาขยายพันธุ์ต่อไปได้

การนำมันมือเสือมาใช้ประโยชน์ในแต่ละประเทศนั้น พบว่าในไทยเรานิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหารทดแทนมันฝรั่ง มีรสชาติมันและมีความหวานเล็กน้อย โดยสามารถนำมาใช้ทำมัสมั่นไก่ ทำแกงเลียง และแกงกะหรี่ หรือนำมาทำแกงบวดน้ำกะทิเป็นขนมหวาน หรือนำมาหั่นบางๆ ทอดกรอบในน้ำมันร้อน เก็บไว้รับประทานเป็นของขบเคี้ยวยามว่างได้ด้วย ส่วนในบางประเทศนำมาผลิตเป็นแป้งเพื่อนำไปทำขนมหวาน เช่น เวียดนามและอินเดีย เป็นต้น โดยมันชนิดนี้อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 และยังสามารถนำส่วนของหัวมันไปต้มในน้ำร้อนและนำมารับประทานบรรเทาอาการปวดตามข้อและช่วยขับปัสสาวะ บำรุงไต อีกด้วย

มันมือเสือแม้จะมีรูปร่างไม่สวยงาม กลมมนเหมือนมันประเภทอื่น แต่หากเรานำมาใช้ประโยชน์ได้ดี ก็ย่อมจะเพิ่มสารอาหารที่มีคุณค่าให้แก่ร่างกายเราได้ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook