สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ยาถ่ายพยาธิวัว

ยาถ่ายพยาธิมีความสำคัญในการกำจัดพยาธิทางเดินอาหารในวัว เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อจากพยาธิ ไม่ว่าจะเป็นพยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด และอื่นๆ ที่พบในวัวและสัตว์เคี้ยวเอื้องต่างๆ  โดยยาเหล่านี้อาจจะออกฤทธิ์ตั้งแต่การลดการเกาะติดของตัวพยาธิ ระงับการเจริญเติบโตของพยาธิจนถึงทำให้พยาธิตาย ซึ่งกระบวนการทำงานของยาถ่ายพยาธิจะแตกต่างกันไป เช่น อาจจะทำให้พยาธิเป็นอัมพาต ทำให้การเผาผลาญของพยาธิเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลต่อการสืบพันธุ์ของพยาธิ เป็นต้น โดยที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องการตกค้างของสารต่างๆ ในวัวและต้องมีค่าความเป็นพิษต่อวัวที่น้อย เพราะยาถ่ายพยาธิบางชนิดอาจทำให้วัวเกิดการแสบคันและเกิดอาการทางประสาท นอกจากนี้อาจจะทำให้วัวเกิดอาการดื้อยาและมีภูมิคุ้มกันที่ลดลงได้ด้วย

วัวที่เราเลี้ยงนั้นควรได้รับยาถ่ายพยาธิแบบกรอกเมื่อมีอายุ 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้วัวเกิดอาการแพ้ยา โดยอาจจะเลือกยาที่ตัวยา Albendazole ที่สามารถกำจัดพยาธิหลักๆ 3 ตัวที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นรวมถึงไข่พยาธิ โดยใช้ยา 1 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักวัว 10 กิโลกรัม  และถ่ายซ้ำด้วยยาถ่ายแบบฉีดทุก 2 เดือน เมื่อโตเป็นวัวหนุ่มสาวให้ถ่ายพยาธิทุก 6 เดือนและก่อนเข้ารับการขุนทุกครั้ง โดยยาแบบฉีดที่ใช้กันโดยทั่วไป คือ ยาที่มีส่วนผสมของ ไอเวอร์เมคและคลอซูลอน ที่สามารถออกฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืดและพยาธิใบไม้ทั้งในปอดและกระเพาะของวัวได้ โดยฉีดเข้าบริเวณใต้ผิวหนังเท่านั้น โดยใช้ยา 1 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักวัว 50 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะเลือกซื้อยาถ่ายพยาธิวัวนั้นเราควรทราบวัตถุประสงค์ว่าเราจะถ่ายพยาธิชนิดไหน โดยการเก็บตัวอย่างมูลสัตว์มาตรวจหาไข่พยาธิก่อนซึ่งจะทำให้เราเลือกใช้ยาได้อย่างถูกต้องและไม่ส่งผลต่อการดื้อยาของวัวอีกด้วย แต่หากไม่สามารถตรวจและพิสูจน์ทราบได้ และวัวมีอายุมากกว่า 4 เดือนแล้ว ก็สามารถใช้ยาที่มีส่วนผสมของ ไอเวอร์เมคและคลอซูลอนได้ เพราะไม่ส่งผลกระทบเรื่องการดื้อยาแต่ไม่นะนำสำหรับวัวเล็ก โดยยาที่เลือกนำมาใช้กับสัตว์ทั้งหมดควรได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากหน่วยงานราชการอย่างถูกต้องและต้องเป็นยาที่ยังไม่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ

นอกจากการใช้ยาถ่ายพยาธิในวัวแล้ว สิ่งสำคัญด้านสภาพแวดล้อมและอาหารที่นำมาเลี้ยงวัวก็มีความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะหญ้าสดซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากตัวอ่อนพยาธิ โดยเราสามารถหลีกเลี่ยงการใช้หญ้าจากแหล่งใกล้น้ำเพราะอาจมีหอยเข้ามาปนเปื้อน ซึ่งหอยคือแหล่งอาศัยของพยาธิ การจัดการโรงเรือนให้ถูกสุขลักษณะ ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ กำจัดสิ่งปฏิกูล ก็ยังช่วยป้องกันการติดโรคแก่วัวได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook