สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ยกระดับยาปราบชมพูทวีปและสารสกัดขิงสู่สากล บรรเทาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ปัจจุบันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและพบได้ทั่วโลก ขณะเดียวกันตำรับยาปราบชมพูทวีป ซึ่งอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2554 เป็นตำรับยาสมุนไพรเพื่อใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และแพ้อากาศ ส่วนขิงได้มีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยขนาดเล็กเบื้องต้นแล้วพบว่าประสิทธิผลในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากการแพ้ที่ดีเทียบเท่ากับยาลอลาทาดีน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดนี้มีศักยภาพและแนวโน้มที่สามารถพัฒนาเป็นยาในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากการแพ้ได้

ดังนั้นการนำขิงหรือสมุนไพรเดี่ยวที่เป็นอาหารมาพัฒนาเป็นยาภูมิแพ้ หรือตำรับยาปราบชมพูทวีปมาศึกษาและพัฒนาต่อยอดตามวิธีการที่ถูกต้องตามหลักสากลนั้น จะเป็นนวัตกรรมที่ผลักดันยาสมุนไพร และยาตำรับ ให้นำมาใช้กับผู้ป่วยแบบการพัฒนายาแผนปัจจุบัน   ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดการใช้ยาจากต่างประเทศ และสามารถพึ่งพาตนเองได้จากยาจากสมุนไพรเหล่านี้  อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่เพิ่มการใช้ยาในบัญชียาหลัก ทำให้เกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์แผนไทยและวงการแพทย์ทั่วไปอีกด้วย และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกร อุตสาหกรรมการผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาไทย

สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยในโครงการ “การพัฒนายาปราบชมพูทวีปและสารสกัดขิงเพื่อใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” โดยมี รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยรวมถึงผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดตำรับยาปราบชมพูทวีปและขิง เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ในรูปแบบยาภายใน โดยทำให้อยู่ในรูปแบบของยาแคปซูลที่สามารถควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพรทั้งทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพในแต่ละครั้งของการผลิต เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์รักษาอาการภูมิแพ้ที่มีมาตรฐานสากล สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย และยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบกลไกการศึกษา การผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง ตลอดจนสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้เกิดรายได้เสริมจากการผลิตสมุนไพรไทยสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาไทย  เนื่องจากยาปราบชมพูทวีปมีส่วนประกอบต่างๆ ถึง 23 ชนิด และสมุนไพรหลักๆ สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศไทย ส่วนขิงเป็นสมุนไพรในครัวเรือน เพาะปลูกได้ง่ายทั่วประเทศ เมื่อองค์ความรู้จากงานวิจัยนี้ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณะ จะทำให้ประชาชนสนใจใช้สมุนไพรขิงในการรักษาตนเองเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการผลงานวิจัยสู่ภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตแปรรูปสมุนไพรให้ก้าวสู่ความสากล และมีศักยภาพในตลาดโลก อีกทั้งยังเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับยาไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกขึ้นและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook