สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

รถไถเดินตาม เครื่องจักรกลสำคัญทางการเกษตร

รถไถเดินตาม นับเป็นเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่เราคุ้นเคยกันมานาน ในยุคก่อนต้องถือว่า เป็น นวัตกรรมการเกษตร ที่มาแทนที่การใช้สัตว์ประเภทวัวและกระบือที่เราเทียมคราดไถนาครับ นำเอาเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานสัตว์ ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรเลย ส่วนใหญ่เครื่องจักรตัวนี้จะผลิตในประเทศไทย โดยใช้กลไกง่ายๆ ปรับให้เหมาะกับหน้างานและภูมิประเทศของไทยเราได้ดีกว่ารถไถเดินตามที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

หน้าที่หลักของรถไถประเภทนี้คือ การนำมาใช้เป็นต้นกำลังในการลากจูงเครื่องจักรอื่นๆ เช่น ลากเครื่องสูบน้ำเข้าแปลงนา หรือลากเครื่องปลูกข้าว เครื่องนวดข้าว เป็นต้น โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณะให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งานตามเกษตรกรและพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดิน การย่ำเพื่อนวดข้าวก็ว่ากันไปครับ โดยเครื่องยนต์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องจักรชนิดนี้ที่ได้รับความนิยมจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 8 แรงม้าขึ้นไปครับ เพราะราคาน้ำมันถูกกว่าเครื่องเบนซินและมีความแกร่ง สมบุกสมบัน ขนาดเครื่องยนต์เล็กกะทัดรัดกว่าเพราะให้ขุมพลังที่แรงกว่า

ตัวทดกำลังของรถไถเดินตามในการขับเคลื่อนล้อ ก็คือ เฟือง โดยมีสายพานคู่ส่งกำลังเพื่อทดรอบสำหรับไถหรือลากจูงอุปกรณ์ที่เราพ่วงกับรถนั่นเองครับ ส่วนล้อนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่เราใช้งาน เช่นถ้าเราใช้งานในไร่ในสวนที่มีคันถนน ก็ควรใช้ล้อยางเพื่อขับเคลื่อนง่าย แต่หากนำไปใช้ในนาก็ต้องใช้ตีนเป็ด เพื่อเป็นตัวช่วยพยุงไม่ให้ล้อจมโคลน

รถไถเดินตามที่มีอยู่ในตลาดเมืองไทยเรา มีหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบผลักเลี้ยว ที่เราจะใช้ได้ดีในการเพาะปลูกที่ไม่จำเป็นต้องมีการเลี้ยวรถไถบ่อยๆ เพราะจะใช้แรงเยอะมากในการเลี้ยว เนื่องจากไม่มีระบบช่วยบังคับการเลี้ยว แต่อีกประเภทจะเป็นแบบบีบเลี้ยว ซึ่งเวลาเลี้ยวเราเพียงแค่บีบบริเวณมือจับ ก็เลี้ยวรถได้แล้ว และแบบที่นิยมกันที่สุดก็คือแบบเกียร์เลี้ยว คือ มีมือจับช่วยเลี้ยวแบบเบาแรงแล้ว ยังมีทั้งเกียร์เดินหน้า ถอยหลัง อีกด้วย ซึ่งช่วยทุ่นแรงพวกเราได้มาก เวลาเรานำเครื่องจักรอื่นๆ พ่วงก็ทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะครับ

เครื่องจักรการเกษตรหรืออุปกรณ์ที่เราใช้นั้น เราต้องหมั่นตรวจสอบก่อนและหลังการใช้งาน โดยเฉพาะระดับน้ำมันขับเคลื่อนและน้ำทันเครื่องต่างๆ หม้อกรองและหม้อน้ำ ก็ดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ตรวจระดับของเหลวในเครื่องจักรให้อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตแนะนำ และทำทุกขั้นตอนโดยไม่ติดเครื่องยนต์ เพื่อความปลอดภัย การดูแลรักษาเพื่อให้รถไถเดินตามใช้งานได้นาน ควรอ่านและปฏิบัติตามคูมืออย่างเคร่งครัด อ่านบ่อยๆ ทำตามบ่อยๆ  เครื่องจักรจะได้อยู่กับเรานานๆ ทำเงินให้เราได้เยอะๆ ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook