สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

รากสามสิบ สมุนไพรชื่อดัง

รากสามสิบ มือชื่อภาษาอังกฤษหลายชื่อ ได้แก่  satavar , shatavari หรือ shatamull  และ shatawari มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Asparagus racemosus Wild. พบได้ทั่วไปในเขตประเทศอินเดียและตลอดแนวเทือกเขาหิมาลัยและทางตอนเหนือของออสเตรเลีย  ในประเทศไทยเราเองก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ในภาคเหนือจะเรียกว่า จ๋วงเครือ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ผักชีช้างหรือผักหนาม และทางกาญจนบุรี เรียกว่าสามร้อยราก  เป็นต้น

รากสามสิบเป็นพืชในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง และอยู่ในวงศ์ย่อย Asparagoideae เป็นพืชประเภทไม้เลื้อย ลำต้นสีเขียว เถามีเนื้อแข็ง ปกคลุมไปด้วยหนามแหลม เจริญด้วยการเลื้อยพันไปกับไม้ชนิดอื่น มีความยาวได้ประมาณ 1-3 เมตร เถาอ่อนมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและมีหนามบริเวณปล้องของเถา มีใบแตกออกตามบริเวณปล้องข้อมีรูปร่างเรียวเล็กเป็นฝอยคล้ายเข็ม กระจุกตัวเป็นพวง รากเหง้าอยู่รวมกันเป็นกระจุก อวบน้ำ มีขนาดใหญ่กว่าเถา ผลิดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อแบบกระจะมีความยาวราว 4 เซนติเมตร ประกอบไปด้วยดอกย่อยสีขาวขนาดเล็กประมาณ 12-17 ดอก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ให้ผลเป็นลูกกลมผิวเรียบมัน ขนาดเล็กมาก เมื่อผลสุกจะมีสีแดงเข้มออกม่วง ด้านในผลมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ไม่เกิน 6 เมล็ด มักจะพบเห็นพืชชนิดนี้ได้ในบริเวณที่เป็นดินผสมหินกรวดหรือบริเวณเขาหินปูน

ในประเทศอินเดีย รากสามสิบ ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน โดยนำรากมาใช้ประโยชน์เป็นยาบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้อาการท้องเดิน และใช้เป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศแก่สุภาพบุรุษและสตรี ขณะที่ทางภาคเหนือของไทยเรานั้นจะนำมาดองในสุรา เรียกว่าเหล้าดองยา ม้าสามต๋อน ในตำราอายุรเวทจะนำมาใช้เป็นสมุนไพรตัวหลักเพื่อบำรุงสตรี กระตุ้นน้ำนม โดยนำส่วนของรากมาต้มในน้ำสะอาดดื่มหรือจะนำไปตากแห้งแล้วบดละเอียดมาปั้นเป็นยาลูกกลอน นอกจากนี้สมุนไพรชนิดนี้ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้กษัย บำรุงตับและปอด ขับพิษไข้ แก้กระหายน้ำ ลดอาการปวดเมื่อยตามลำตัว  และยังสามารถนำไปเข้าตำรับกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การจะใช้ประโยชน์ควรต้องศึกษาในเรื่องของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลด้วย

นอกจากการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรแล้ว ผลอ่อนขนาดเล็กของต้นรากสามสิบสามารถนำมาปรุงอาหารเป็นเมนูแกงลูกสามสิบ ส่วนที่อยู่เหนือดินนำมาทำแกงส้ม แกงเลียงแบบทางใต้ ส่วนยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดหรือแบบลวกคู่กับน้ำพริกหรือยำต่างๆ ได้ รากที่อวบน้ำนั้นนำมาแช่อิ่มและทำน้ำรากสามสิบ หรือปลูกเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเสริมต่างๆ ที่ปัจจุบันนิยมใช้สารสกัดจากรากสามสิบกันอย่างกว้างขวางทั้งในไทยและต่างประเทศ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook