สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ละมุดกระสวยมาเลย์ หนึ่งในพันธุ์ยอดนิยม

ละมุดกระสวยมาเลย์ เป็นพันธุ์ละมุดชนิดหนึ่งที่จัดว่าเป็นหนึ่งในพันธุ์ยอดนิยมที่เพื่อน ๆ เกษตรกรนำมาปลูก เพราะให้ผลละมุดขนาดกลางมีน้ำหนักประมาณผลละ 150-250 กรัม ลักษณะผลรียาว คล้ายลูกรักบี้ สีเปลือกจะเป็นสีน้ำตาลออกทอง เนื้อผลมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น รสชาติหวาน ได้รสความเป็นละมุดเข้มข้นชัดเจนมาก เนื้อในสีน้ำตาลแดง เมื่อสุกจะนิ่มแต่คงความกรอบไว้ด้วย และที่สำคัญคือให้ผลผลิตดกอีกด้วย แตกต่างจากพันธุ์มะกอกที่มีลักษณะผลใหญ่แต่กลม เปลือกผลจะเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อในกรอบแต่แข็ง แต่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่เร็วกว่า โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุได้ 6 เดือน ส่วนละมุดกระสวยมาเลย์ต้องใช้เวลาถึง 7-8 เดือน

แม้ว่าละมุดมะกอก หรือละมุดกรอบ จะเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะมีความโดดเด่นเรื่องความกรอบแน่นของผล แต่มีขนาดเล็ก มีน้ำหนักเฉลี่ยเพียงผลละ 45 กรัม หรือเล็กราว 3 เท่าของละมุดกระสวยมาเลย์  จึงทำให้เกษตรกรบางพื้นที่หันมาปลูกละมุดกระสวยมาเลย์เพิ่มขึ้น เพราะให้ผลผลิตสูงและน้ำหนักผลสูงด้วย

ลักษณะลำต้นของละมุดกระสวยมาเลย์จะเป็นทรงพุ่มโปร่ง พุ่มไม่ใหญ่มาก มีความสูงราว 15 เมตรไปจนถึง 20 เมตร กิ่งก้านมีความยืดหยุ่นสูง เนื้อไม้เหนียว เปลือกไม้มีสีน้ำตาลอ่อน ผิวเปลือกไม้เนียนเรียบ แต่จะเริ่มเป็นสีน้ำตาลแก่และผิวแตกเมื่ออายุแก่ขึ้น ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะใบแคบ ยาวเรียว ผิวใบมีคลื่นชัดเจน ปลายใบแหลม แตกใบหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง แตกดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน แตกดอกตามง่ามใบบริเวณปลายยอด ดอกมีสีเหลือง มีกลีบและกลีบเลี้ยงชนิดละ 6 กลีบ ผลเมื่อยังเป้นผลอ่อนหรือผลดิบนั้นจะมีรสชาติฝาด เปลือกผิวจะมีน้ำยางสีขาวข้น แต่เมื่อสุกน้ำยางจะหายไปและเนื้อในผลมีรสหวานดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ด้านในผลมีเมล็ดแข็ง สีดำ ลักษณะยาว-รี สีดำมัน จำนวน 2-6 เมล็ด

การขยายพันธุ์ละมุดกระสวยมาเลย์ สามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งซึ่งทั้ง 2 วิธีมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป การเพาะเมล็ดนั้นจะทำให้ประหยัดกิ่งพันธุ์ ได้จำนวนต้นละมุดมาก แต่มีข้อด้อยคืออาจเกิดการกลายพันธุ์ ใช้เวลานานกว่าจำได้ผลผลิต ส่วนการตอนกิ่งนั้น มีข้อดีที่ได้ต้นละมุดตรงตามสายพันธุ์พ่อแม่ ให้ผลผลิตเร็ว แต่มีข้อด้อยคือ ให้จำนวนต้นได้น้อย และการตอนกิ่งละมุดนั้นจะมียางมาก โดยสามารถปลูกละมุดพันธุ์นี้ได้ในพื้นที่ที่มีดินสภาพดี รับฝนรับน้ำดี หมั่นดูแลตัดแต่งทรงพุ่ม กำจัดแมลงและหญ้าศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ และให้ปุ๋ยอินทรีย์ตามเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีตามความต้องการของตลาด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook