สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ลำไยอิดอ เม็ดเล็กเนื้อหนา

ลำไยอิดอ หรือ ลำไยอีดอ คือ ลำไยชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการบริโภค เพราะลำไยในบ้านเรานั้นมีหลายพันธุ์และมีลักษณะของผลผลิตที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นขนาดผล ขนาดเมล็ด รูปลักษณะทรงผล สีเนื้อ และรสชาติ ข้อเด่นของลำไยพันธุ์นี้คือเป็นพันธุ์ที่ทนน้ำและทนแล้งได้ระดับปานกลาง มีการเจริญเติบโตดี จัดเป็นพันธุ์เบาเพราะออกดอกเร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยทั่วไปจะเริ่มติดดอกในช่วงปลายปีหรือราวเดือนธันวาคม และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบสำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่ปลูกลำไยพันธุ์นี้เพราะพันธุ์อื่นๆ ยังไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้ราคาลำไยในท้องตลาดสามารถขายได้ราคาสูง

ลำไยดอ หรือลำไยอิดอ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนลำไยทั่วไป คือ เป็นไม้ยืนต้น เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นขนาดกลาง เนื้อไม้มีความแข็งแรง กิ่งก้านกลม เหนียว ไม่ฉีกหรือหักง่าย สีของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดง แตกเป็นร่องจนกลายเป็นสะเก็ดหนา ผิวเปลือกขรุขระ ใบเป็นใบรวม ประกอบด้วยใบย่อยที่เรียงกันแบบตรงข้าม 3-5 คู่อยู่บนก้านใบเดียวกัน ก้านใบรวมยาวระหว่าง 20-30 เซนติเมตร ส่วนของก้านใบย่อย ใบยาวรี ปลายแหลม ขอบใบเรียบมีลอนขนาดใหญ่บ้าง ใบแข็งและมัน ยอดอ่อนของลำไยอิดอ สามารถแบ่งได้เป็น ดอยอดแดง จะมีใบอ่อนเป็นสีแดง ใบย่อยมีขนาดความกว้างราว 6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และดอยอดเขียวที่มีใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ขนาดใบเล็กกว่าชนิดยอดแดง ตาใบจะเจริญเป็นตาดอกเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ และช่อดอกบางส่วนจะเกิดจากตากิ่ง

ผลผลิตลำไยอิดอที่ได้จากชนิดพันธุ์ยอดแดงนั้น จะมีลักษณะผลที่กลม เปลือกผลจะมีสีเข้ม ให้ผลผลิตได้เร็วกว่าชนิดยอดแดง แต่มักให้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ แตกต่างจากชนิดดอยอดเขียวที่มีผลผลิตดีและสม่ำเสมอ ลักษณะผลจะไม่กลมสมดุล คือมีลักษณะเบี้ยวและยกบ่าข้างหนึ่ง เปลือกผลจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนเนื้อผลลำไยนั้นจะมีลักษณะวุ้นสีขาวใส เนื้อกรอบนุ่ม รสหวานกำลังดี เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หรือที่เราเรียกกันว่าลำไยกะโหลก  นอกจากการจำแนกด้วยลักษณะสีของยอดอ่อนและรูปทรงผลแล้ว ลำไยอิดอยังถูกแบ่งชนิดตามลักษณะของก้านช่อผล คือ อิดอก้านอ่อน ที่มีขนาดผลใกล้เคียงกัน สีเปลือกผลเป็นสีเหลืองทอง และมีเปลือกที่บาง ส่วนอิดอก้านแข็งที่ชาวสวนส่วนใหญ่ชอบปลูกนั้น จะมีขนาดผลที่ใหญ่ แต่ขนาดผลในช่อจะมีขนาดแตกต่างกันบ้าง มีเปลือกที่หนากว่าชนิดก้านอ่อน ทำให้เก็บเกี่ยวและรักษาได้สะดวกกว่า

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook