สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การประเมินและคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมมะขามเปรี้ยวไทย

ปัจจุบันความต้องการมะขามเปรี้ยวมีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2549) แม้ว่ามะขามจะเป็นพืชยืนต้นที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นผลผลิตที่ได้จากต้นมะขามเปรี้ยวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นมีความแปรปรวนของพันธุ์สูง ทำให้มะขามมีคุณภาพไม่เสถียร คุณภาพฝักไม่สม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญ ขณะเดียวกันพันธุ์ที่เกษตรคัดเลือกมาใช้ในการเพาะปลูกนั้น ส่วนใหญ่จะมีฝักขนาดเล็ก ฝักแบน เนื้อผลในฝักน้อย เนื้อผลไม่ฉ่ำน้ำ เปลือกฝักบางทำให้เปลือกแตกง่ายในขณะเก็บเกี่ยว พันธุ์ที่พบส่วนมากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของตลาดและมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น กลุ่มพันธุ์มะขามกระดาน มีลักษณะฝักใหญ่แต่มีรูปทรงฝักแบนโค้ง เปอร์เซ็นต์เนื้อน้อย เมื่อมะขามสุกเนื้อจะแห้งตายซากไม่ฉ่ำน้ำ ไม่เหมาะต่อการนำไปผลิตเป็นมะขามเปียก ส่วนกลุ่มพันธุ์มะขามขี้แมว แม้มีลักษณะฝักกลม ตรง แต่กลับมีขนาดฝักเล็กและให้ผลผลิตต่ำ

ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เหมาะ ดังนั้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การประเมินและคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมมะขามเปรี้ยวไทย” โดยมี อ.เรืองศักดิ์ กมขุนทด  ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อศึกษาประเมินคุณลักษณะของมะขามเปรี้ยวลูกผสมที่ได้จากการผสมพันธุ์ที่ดำเนินการวิจัยไปแล้วและคัดเลือกลูกผสมมะขามเปรี้ยวที่มีลักษณะเหมาะสมตามความต้องการตลาด และศึกษาถึงการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของมะขามเปรี้ยวพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้พันธุ์มะขามเปรี้ยวในอนาคต  เช่น มะขามที่ให้ยอดอ่อนได้ดีสำหรับปลูกเพื่อการตัดยอด เป็นต้น

โดยงานวิจัยโครงการนี้ได้ปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณลักษณะดีกว่าพันธุ์เดิมที่มีอยู่ ด้วยการสร้างความหลากหลายจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ที่มีลักษณะดี สายต้นลูกผสมที่เกิดขึ้นจำนวนมากได้รับการประเมินเพื่อคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดีหลายๆ ลักษณะ การร่นระยะเวลาในการคัดเลือกโดยนํายอดพันธุ์ที่ต้องการประเมินไปต่อบนต้นตอ ซึ่งช่วยให้สามารถประเมินสายต้นจำนวนมากได้ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยมะขามเปรี้ยวลูกผสมพันธุ์ใหม่ จะมีลักษณะฝักใหญ่กลมและตรง เนื้อมาก เปลือกหนา เมื่อสุกเนื้อสี น้ำตาลหรือฉ่ำน้ำ ไม่แห้ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่มีทั้งการแปรรูปฝักดิบและฝักสุก โดยฝักดิบต้องการมะขามที่มีลักษณะของฝักใหญ่รูปกลมและตรง(ฝักดิ่ง)หรือ ลักษณะของฝักใหญ่ รูปแบนเล็กน้อยและค่อนข้างตรง(ฝักดาบ) ฝักมีความหนาหรือกลม เพื่อสะดวกในการแกะเปลือกสำหรับดองหรือแช่อิ่ม จากข้อดีเด่นของพันธุ์ใหม่ดังกล่าวทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งแปรรูปฝักดิบและฝักสุกในพันธุ์เดียวกัน ทำให้ผลผลิตมีตลาดรองรับที่กว้างขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดี ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเปรี้ยวมีรายได้ที่ดียิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook