สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ลูกอ๊อด สัตว์ตัวจิ๋วราคาแจ๋ว

ในอดีตนั้นลูกอ๊อดเป็นสัตว์ที่เราไม่นิยมนำมาบริโภคกันสักเท่าไหร่ หรือหากมีการนำมารับประทานเป็นอาหารก็จะมีเพียงเฉพาะในภาคอีสาน ที่นิยมนำมารับประทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ บ้างก็อาจนำมาปรุงอาหารโดยวิธีการย่าง หรือทำเป็นลาบ เป็นต้น  ในบางท้องที่ก็อาจนำลูกอ๊อดไปให้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงต่างๆ

แต่ในปัจจุบันลูกอ๊อดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ผู้บริโภคนิยมนำไปบริโภคกันมากขึ้น ขณะที่เพื่อนๆ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกันจริงจัง จึงกลายเป็นโอกาสให้เกิดกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันตามนโยบายยุทธศาสตร์และพัฒนาการประมง เพื่อทำการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดร่วมกัน ผลักดันให้การเพาะพันธุ์ลูกอ๊อดขายนั้นเป็นอาชีพที่ยั่งยืนขึ้น เพราะลูกอ๊อดตัวน้อยเหล่านี้ขายได้ราคาถึง 150-200 บาทต่อกิโลกรัมเลยครับ จึงมีการเพาะลูกอ๊อดเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแถบภาคอีสานที่นิยมบริโภคลูกอ๊อดมาแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว ส่วนภาคอื่นนั้นก็อาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่เยอะมากนัก  จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจเพราะรายดีไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่นเลยครับ

ลูกอ๊อดนั้นแท้จริงแล้วคือตัวอ่อนของกบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยมีลักษณะคล้ายปลายตัวเล็กมีหัวและหาง ไม่มีขา ตาสีดำกลมโต ตัวสีดำออกน้ำตาลเล็กน้อย บางตัวก็สีดำทั่วทั้งตัว ลูกอ๊อดแต่ล่ะชนิดอาจมีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ร่วมถึงวิธีหาอาหารของลูกอ๊อดแต่ล่ะชนิดด้วยครับ บางตัวก็ต้องว่ายหาอาหารเหนือผิวน้ำ บางตัวก็มักจะแอบซ่อนตามท่อนไม้หรือซอกหินต่างๆ ทั้งนี้ลูกอ๊อดจะมีระยะเวลาเพียงไม่นานก็จะโตขึ้นมีแขนขาจนกลายเป็นกบในที่สุดครับ

การเพาะพันธุ์ลูกอ๊อดก็ไม่ยุ่งยากตามเคยครับ  เริ่มจากการเตรียมบ่อดินขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 20 เมตร ปรับสภาพดินในบ่อโดยใส่ปูนขาวลงไปให้ดินไม่เปรี้ยวหรือเค็มเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับลูกอ๊อดที่เราจะนำมาเลี้ยง จากนั้นก็ทำการหาแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์กบมา 150 คู่และปล่อยในบ่อดินที่เตรียมไว้ เพื่อให้ผสมพันธุ์กันและวางไข่ตามธรรมชาติ โดยใช้เวลาเพียง 1-2 คืนเท่านั้น จากนั้นก็จับแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์กบออกจากบ่อทั้งหมด ซึ่งแม่พันธุ์ 1 ตัวจะให้ลูกอ๊อดถึง 3,000 ตัวเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็เพียงแค่รอไข่ฟักและรอเวลาอนุบาลลูกอ๊อดประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็สามารถนำลูกอ๊อดไปขายได้แล้วล่ะครับ สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ให้ขุดบ่อดิน อาจจะใช้วิธีการเลี้ยงในนาข้าวหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ได้นะครับ วิธีการก็ไม่แตกต่างกันครับ และที่สำคัญเราได้ใช้ประโยชน์จากที่นาของเราได้อย่างเต็มที่ตลอดทั้งปีด้วยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook