สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

วัวบรามัน วัวสายพันธุ์ดี

วัวบรามัน เป็นภาษาพูดที่เราใช้เรียกโคเนื้อพันธุ์บราห์มัน ซึ่งเป็นวัวตระกูลเมืองร้อน ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย แต่ทางอเมริกาได้นำสายพันธุ์นี้ไปปรับปรุงพันธุ์ต่อยอดเป็นพันธุ์ American Brahman ซึ่งเหมาะสมต่อการเลี้ยงในรัฐทางที่มีภูมิอากาศกึ่งร้อนของอเมริกา เช่น เท็กซัส จอร์เจีย และฟลอริด้า เป็นต้น ประเทศไทยเราได้นำเข้าพันธุ์ของวัวพันธุ์นี้มาจากประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ลักษณะเด่นของวัวบรามัน คือ เป็นวัวตัวใหญ่ ลำตัวทั้งกว้าง ยาว และมีความลึกมาก สัดส่วนเหมาะสม หน้าผากยาว  กระดูกสันหลังตรง คอสั้นอกเป็นแผงกว้าง มีโหนกสูงขนาดใหญ่เด่นชัด ลำตัวมีขนเกรียน สีเทาอ่อน บ้างก็สีแดง บ้างก็สีขาว บ้างก็มีลายจุด โดยที่พบส่วนใหญ่ในฟาร์มมักเป็นสีขาวและสีเทา เขาชันและงุ้ม หูมีความกลางพอประมาณและยาวจนเกือบถึงริมฝีปาก เหนียงและหนอกใหญ่หย่อนและหนังใต้ท้องยานหย่อน หางวัวมีขนาดโคนที่ใหญ่ ขนบริเวณหางเป็นพู่สีดำ ขนฟู จมูกและกีบมีสีดำเช่นกัน เปนวัวที่มีขายาว โคนขาล่ำใหญ่ ขาหลังมีกล้ามเนื้อแน่น ขนาดใหญ่ วัวเพศเมียจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าวัวเพศผู้ โดยเพศเมียจะหนักประมาณ 500-700 กิโลกรัม ส่วนเพศผู้จะหนักราว 800-1,200 กิโลกรัม และพ่อพันธุ์บางตัวอาจมีน้ำหนักได้ถึง 1,500-1,800 กิโลกรัม

วัวบรามันเป็นวัวที่เหมาะสมในพื้นที่เขตร้อน เพราะทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี ทนต่อความชื้นได้ด้วย แต่ไม่ทนต่อความหนาวเย็น นอกจากนี้ยังต้านทานต่อแมลงและกล้ามเนื้อของวัวพันธุ์นี้สามารถขยับตัวเพื่อไล่แมลงและยังสามารถขับสารจากผิวหนังที่คอเพื่อขับไล่แมลงที่มารบกวนได้ นอกจากนี้ยังเป็นวัวที่มีลำไส้ยาวซึ่งแม้จะได้อาหารที่คุณภาพไม่ดีนัก ก็สามารถอยู่รอดได้ คลอดลูกง่ายแต่ใช้เวลาอุ้มท้องนานถึง 290-295 วัน สามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์เป็นได้ทั้งวัวนม วัวเนื้อและวัวงาน โดยปัจจุบันโคพันธุ์บราห์มันนี้ได้รับการกระจายพันธุ์ไปยังหลายประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเรานั้นทางกรมปศุสัตว์ได้นำเข้ามาปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จนกลายเป็นวัวบราห์มันแบบไทยเราที่เกษตรกรนิยมนำมาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

ที่น่าสนใจคือ วัวกำแพงแสนที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็นวัวพันธุ์เนื้อไทย ที่เป็นลูกผสมของวัว 3 สายพันธุ์ คือพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ชาโรเล่และพันธุ์บรามัน ทำให้ได้เนื้อวัวคุณภาพที่มีความนุ่ม เนื้อชุ่มฉ่ำ และแน่น มีไขมันแทรก เมื่อนำไปปรุงอาหารจึงมีความนุ่มไม่แพ้เนื้อนำเข้า จนทำให้คนไทยเราหันมารับประทานเนื้อไทย ลดการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook