สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สละอินโด ผลโต ราคาดี

สละอินโด ไม้ผลยอดนิยมพันธุ์ใหม่ของภาคใต้ ที่นิยมนำมาปลูกแซมในสวนยางพารา เพื่อเป็นไม้ผสมสร้างรายได้ตลอดทั้งปีให้แก่เพื่อนๆ เกษตรกรที่ปลูกยางพารากัน โดยในสวนยางดั้งเดิมนั้นจะนิยมปลูก ระกำ ผักเหลียง ผักกูดและสละพันธุ์ต่างๆ แต่สละพันธุ์อินโดนีเซียนี้เป็นพันธุ์ใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจนำมาปลูก เพราะเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี ตลาดต้องการเพราะรสชาติเด็ด การเพาะขยายพันธุ์ก็ง่าย และที่สำคัญคือราคาขายไม่ตก ทำให้โกยรายได้เป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว

สละอินโด เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดตามชื่อ คือ หมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเชีย เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่สวนยางในไทยเราก็ให้ผลผลิตดี ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้หรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ตาม เพราะในสวนยางพาราส่วนใหญ่มีอากาศและดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสละพันธุ์นี้ ผลสละมีรูปร่างกลมและใหญ่กว่าสละพันธุ์ไทย มีเปลือกผลสีเทาดำ เนื้อผลหนานุ่มและรสหวานชุ่มคอ เมล็ดลีบเล็ก

การปลูกสละอินโดนเซียควรปลูกในดินที่ร่วนที่อุดมด้วยธาตุอาหาร ระบายน้ำได้ดี โดยปลูกขั้นกลางระหว่างแนวต้นยางพารา เว้นระยะ 3 เมตร สามารถปลูกได้ราว 60 ต้นต่อไร่ โดยจะทำการปลูกหลังจากปลูกยางพาราไปแล้ว 1 ปี เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพราะยางพาราใช้เวลาเติบโตรอเก็บเกี่ยว 3 ปี ส่วนสละอินโดใช้เวลา 2 ปีนั่นเองครับ การขุดหลุมให้ขุดลึกลงไปราวๆ ครึ่งเมตร ใส่ปุ๋ยคอกไว้ที่ก้นหลุม 500 กรัม แล้วตากทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะนำกล้าพันธุ์มาปลูก และรดน้ำให้เรียบร้อย

การปลูกนั้นให้ใช้อัตราต้นตัวเมีย 3 ต้น ต่อต้นตัวผู้ 1 ต้น เพื่อให้เกิดอัตราการผสมเกสรที่เหมาะสม และเราต้องหมั่นนำเกสรสีเหลืองของตัวผู้ มาป้ายบนเกสรสีแดงของตัวเมียด้วยนะครับ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากตามที่ต้องการ  ซึ่งมีเทคนิคง่ายๆ เพียงแค่ เราทำการเคาะเกสรตัวผู้ใส่จานไว้ แล้วใช้พู่กันป้ายเกสรตัวผู้ในจานแล้วนำไปป้ายบนเกสรตัวเมียอีกครั้ง เป็นการช่วยผสมเกสรให้ผสมพันธุ์ติดง่ายขึ้นครับ

หลังจากที่สละเริ่มออกช่อ เราก็ต้องหมั่นตัดแต่งช่อพวงสละ ปลิดผลที่ไม่มีคุณภาพออกเพื่อป้องกันไม่ให้สละสลัดลูกทิ้งเอง และควรพ่นอีเอ็มเพื่อป้องกันแมลงต่างๆ มารบกวนผลผลิตของเรา เมื่อผลสละอินโดโตเต็มที่จะทยอยสุกไม่พร้อมกัน ก่อนทำการเก็บเกี่ยวเพื่อนๆ เกษตรกรควรเด็ดผลมาชิมว่าแก่เต็มที่หรือไม่ หากผลที่ได้หวานก็สามารถเก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรตัดที่ขั้วอย่างทนุถนอมเพื่อป้องกันไม่ให้ผลสละหลุดร่วงจากพวงครับ แค่นี้ก็เริ่มทำเงินกันได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook